Web Analytics
บทความ เมอร์เดก้า เปสต้าสุกาน 1990

บทความ เรื่อง "เมอร์เดก้า เปสต้าสุกาน 1990"

 

เมื่อทีมตราธงไตรรงค์พลาดแม้กระทั่งเหรียญทองแดง กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 15 (พ.ศ. 2532) ณ ประเทศมาเลเซีย จนไม่อาจจะกู้วิกฤตศรัทธาจากแฟนลูกหนังชาวไทยคืนมาได้ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต้องทำสัญญาจ้างโค้ชชาวบราซิล เพื่อหวังสร้างนักเตะสายเลือดใหม่

 

ในเวลาแค่สามเดือน ทีมไทยประสบความสำเร็จ รวม 2 รายการ คือชนะเลิศสี่เส้าอินโดจีน (ธันวาคม พ.ศ. 2532) และครองถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 21 (มกราคม พ.ศ. 2533) ทำให้พลพรรคลูกหนังเกิดความศรัทธาทีมชาติไทยอีกครั้งหนึ่ง

 

แต่เนื่องจากนักเตะชุดใหญ่ ภายใต้การควบคุมทีมของ มร.คาร์ลอส อัลเบอร์โต้ คาร์วัลโย อยู่ระหว่างพักแข้ง ในขณะที่ส่วนหนึ่งต้องลงเล่นกีฬาแห่งชาติที่จังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้น ทัวร์นาเมนต์ต่อมา สมาคมฯ จึงจำเป็นต้องคัดเลือกผู้เล่นซึ่งไม่ติดการแข่งขันภายในประเทศ เพื่อผสมกับเยาวชนทีมชาติ อายุ 21 ปี เดินทางไปสู้ศึกตามเทียบเชิญของประเทศบรูไน

 

ทีมชาติไทยชุดเมอร์เดก้า เปสต้าสุกาน (พ.ศ. 2533) จำนวน 18 คน คือผู้รักษาประตู สมเกียรติ ปัจสาจันทร์, สัญญา ซ่อมจันทร์ทึก กองหลัง สิงห์ โตทวี, จักรี หนองน้อย, ธวัช แย้มเกษม, เกรียงไกร เพ็ชรกูล, กฤษฎา พงษ์รื่น กองกลาง พงษ์นรินทร์ มีมินทร์, สุเมธ อัครพงศ์, คำรณ สำราญพันธ์, อาริศ กุลสวัสดิ์ภักดี กองหน้า อรรถพร หิรัญสถิตย์, ชำนาญ กุลยดิษฐ์, ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์, องอาจ ประเสริฐจิต, สมบัติ ลีกำเนิดไทย, อดิศร คำชัย และพิชิต แสงหัวช้าง มี นายสมชาติ ยิ้มศิริ เป็นหัวหน้าสตาฟฟ์โค้ช นายประพล พงษ์พานิช เป็นผู้ช่วยโค้ช นายสุพจน์ ขจัดมาร เป็นผู้จัดการทีม

 

กีฬาฉลองเอกราช เมอร์เดก้า เปสต้าสุกาน ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 5-15 มีนาคม 2533 ณ กรุงบันดา เสรี เบกาวัน (BANDAR SERI BEGAWAN) ประเทศบรูไน มีชิงเหรียญทองกีฬาหลายประเภท โดยเฉพาะ “ฟุตบอล” มีส่งแข่งขัน รวม 6 ชาติ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือสาย A มีทีมชาติมาเลเซีย , ทีมชาติสิงคโปร์ และทีมชาติไทย และสาย B มีทีมชาติเมียนมาร์ , ทีมชาติอินโดนีเซีย และทีมชาติบรูไน (เจ้าภาพ)

 

5 มีนาคม 2533 ทีมชาติมาเลเซีย พบ ทีมชาติไทย มีแรงงานคนไทยตามเข้ามาเชียร์เพื่อนร่วมชาติ มากกว่า 4,000 คน ทีมเสือเหลืองชุดปรี-โอลิมปิกเปิดเกมบุกใส่ ส่วนขุนพลลุ่มเจ้าพระยาตั้งรับอย่างรัดกุม ก่อนหาจังหวะทะลุตามช่อง น.9 “ศูนย์หน้าหมอผี” อรรถพร หิรัญสถิตย์ กัปตันทีมวิ่งไปปาดบอลผ่านนายทวารมาเลย์ ซาราซูติ ขยับสกอร์ออกนำ ครึ่งแรก 1-0

 

ครึ่งหลัง น.46 ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์ ส่งลูกเข้ากลางให้ อรรถพร ล้มตัววอลเลย์เสียบเสาสอง ทีมไทยหนีห่างเป็น 2-0 น.54 อดิศร คำชัย ลงแทน ไพบูลย์ นักเตะเสือเหลืองเริ่มเล่นบอลหนักและหวดใส่ คำรณ สำราญพันธ์ จนผู้ตัดสินต้องชักใบเหลืองเบรกเกม ก่อนไม่สามารถจะยิงประตูเพิ่มอีก ทีมไทย ชนะ ทีมมาเลเซีย 2-0

 

วันที่ 9 มีนาคม 2533 ทีมชาติสิงคโปร์ พบ ทีมชาติไทย สตาฟฟ์โค้ชทีมธงไตรรงค์ปรับเปลี่ยนผู้เล่นหลายตำแหน่ง โดยแต่ละนัดจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นหัวหน้าชุด นักเตะไทยพับสนามบุกเกือบตลอดเกม 45 นาทีแรก น.5 อดิศร ซัดประตู 1-0 ทีมจอมพลิกล็อกคอยโต้กลับจนได้ผล น.27 โมฮัมหมัด นอร์ดิน เข้ายิงตีเสมอ 1-1 น.31 โมฮัมหมัด ส่องลูกโทษจังหวะเดียว ระยะกว่า 30 หลา บอลพุ่งผ่านผู้รักษาประตู สมเกียรติ ปัจสาจันทร์ ซึ่งไม่ทันระวังตัว ทีมลอดช่องพลิกสกอร์นำ 2-1 น.33 อดิศร หลุดเดี่ยวแล้วซัลโวสกอร์ตีเสมอ 2-2 น.44 พิชิต แสงหัวช้าง กระชากลูกหลบแผงหลังก่อนส่งให้ อรรถพร ยิงประตูขึ้นนำ 3-2 และนาทีสุดท้าย น.45 ชำนาญ กุลยดิษฐ์ เข้าซัดเสียบคานบน 4-2

 

น.47 ผู้เล่นสิงคโปร์ส่งบอลคืนหลังพลาด อรรถพร จึงฉกแย่งลูกเข้าไปยิงเป็นสกอร์ 5-2 นักเตะจากแดนสยามเริ่มคุมพื้นที่ด้านกว้างเพื่อผ่อนเกมลง จนหมดเวลาการแข่งขัน ทีมไทยถล่มทีมสิงคโปร์ 5-2 เข้ารอบเป็นอันดับหนึ่งของสาย A

 

รอบรองชนะเลิศ 11 มีนาคม 2533 ทีมชาติอินโดนีเซีย พบ ทีมชาติไทย ขุนพลนักเตะไทยเปิดฉากบุกใส่ทันที น.6 พิชิต ลุยเข้าส่องประตูออกนำก่อน 1-0 และ น.35 ไพบูลย์ เตะบอลลอยข้ามตัวนายทวารอิเหนาให้ องอาจ ซัดอย่างเผาขน 2-0

 

ครึ่งหลัง น.46 สุเมธ อัครพงศ์ เตะโทษนอกเขตเข้าตุงตาข่ายขยับสกอร์นำห่าง 3-0 หลังจากนั้น จึงเน้นตั้งเกมรับมากขึ้น น.61 สิงห์ โตทวี ทำฟาวล์ในเขตโทษ อาลี สุนัน สังหารให้ทีมอิเหนาตีตื้นตามมา 1-3 และ น.57 เกรียงไกร เพ็ชรกูล ลงแทน กฤษดา พงษ์รื่น ผู้เล่นไทยเริ่มอ่อนแรงลงจนโดนโต้กลับบ้าง แต่นายทวารยังช่วยป้องกันเอาไว้ได้ จบเกม ทีมไทย ชนะ ทีมอินโดนีเซีย 3-1

 

ในช่วงเช้าก่อนจะลงสนามนัดชิงชนะเลิศ มีการประชุมเกี่ยวกับปัญหานักเตะกองหลังคนหนึ่งสังกัดสโมสรตราโล่ ที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งสตาฟฟ์โค้ช จึงถูกลงโทษส่งตัวกลับเมืองไทยทันที

 

รอบชิงชนะเลิศ ฟุตบอลกีฬาเมอร์เดก้า เปสต้าสุกาน ครั้งที่ 2 วันที่ 13 มีนาคม 2533 ณ สนามเนการา ฮัสซัน โบลเกียร์ ทีมชาติมาเลเซีย พบ ทีมชาติไทย ท่ามกลางแฟนลูกหนัง 8,000 กว่าคน

 

ทีมมาเลย์เขี่ยเริ่มเกมขึ้นทางปีกขวา น.3 องอาจ ตัดลูกได้จึงส่งผ่ากลางสนาม อรรถพร ทำชิ่งเปิดทางให้ พิชิต ยิงตามน้ำระยะ 10 หลา เป็นประตู 1-0 แต่เกมส์การเล่นยังคงมีโอกาสสกอร์ใกล้เคียงกัน น.19 มูบิน ม็อคต้าร์ กัปตันเสือเหลืองซัดจังหวะวอลเลย์ตีเสมอสำเร็จ 1-1 ผู้เล่นไทยยังควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ค่อยดีนัก เมื่อโดนกดดันอย่างหนัก จนได้สองใบเหลืองจาก ชำนาญ และสุเมธ ก่อนจบครึ่งแรก 1-1

 

อนึ่ง ในช่วงพักครึ่งการแข่งขัน แฟนฟุตบอลชาวไทยกระทบกระทั่งกับกองเชียร์ชาวมาเลย์ โดยบางกลุ่มยกพวกวิ่งไล่ตีกันนานกว่า 10 นาที เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุการณ์แต่อย่างไร จึงต้องทำการห้ามปรามกันเอง กระทั่งสงบเรียบร้อยลงได้

 

45 นาทีสุดท้าย นักเตะสยามเร่งเครื่องอย่างหนัก และหวุดหวิดจะเพิ่มสกอร์หลายครั้ง ทีมเสือเหลืองเล่นประคองเกมแบบปลอดภัยไว้ก่อน พงษ์นรินทร์ มีมินทร์ ถูกจดชื่อเป็นคนที่สามของไทย จบเกม 90 นาที เสมอกัน 1-1

 

ช่วงต่อเวลาพิเศษ 30 นาที ธวัช แย้มเกษม ลงแทน อดิศร ทีมมาเลเซียไม่เน้นเกมรุก หากแต่คอยตั้งรับท่าเดียว ผู้เล่นธงไตรรงค์มีจังหวะเกือบจะได้ประตูชัย น.97 เมื่อ พิชิต ซัดชนเสา และ น.102 องอาจ ส่องชนคานอย่างน่าเสียดาย เมื่อหมดเวลาการแข่งขัน ทีมไทย เสมอ ทีมมาเลเซีย 1-1 ทำให้ต้องครองเหรียญทองร่วมกัน พร้อมเงินรางวัลอีกทีมละ 6,500 เหรียญ

 

ทีมชาติชุดบี หรือสื่อมวลชนเรียกว่าชุด “รวมดาวกระจาย” ทีมที่ 2 ของไทย สามารถสร้างผลงานเกินความคาดหวังของหลายฝ่าย ด้วยการชนะเลิศต่างถิ่นในรอบ 19 ปี (นอกจากฟุตบอลซีเกมส์) นับจากคว้าถ้วยสามเส้าที่ไต้หวัน (พ.ศ. 2514) แต่ถือเป็นตำนานลูกหนังชุดแรก ที่ประสบความสำเร็จบนแผ่นดินเศรษฐีน้ำมันบรูไน ก่อนนักเตะทีมชาติชุดใหญ่จะครองเหรียญทองกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 20 (พ.ศ. 2542) ณ กรุงบันดา เสรี เบกาวัน ในทศวรรษต่อมา.

 

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ