Web Analytics
บทความ เพื่อเพื่อน เพื่อชาติ เพื่อเกียรติยศ

เพื่อเผยแพร่เกียรติประวัติและเกียรติภูมิของวงการฟุตบอลไทย

บทความ เรื่อง "เพื่อเพื่อน เพื่อชาติ เพื่อเกียรติยศ"

เมื่อสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (THE FOOTBALL ASSOCIATION OF THAILAND UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF HISMAJESTIC THE KING) หรือ F.A.T. บริหารงานมาเป็นปีที่ 46 ทีมเยาวชนชาติไทยชนะเลิศฟุตบอลเยาวชนแห่งเอเชีย ครั้งที่ 4 ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) อีก 3 ปีต่อมา ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2508 จึงได้ส่งนักเตะทีมชาติไปอบรมและเก็บตัวฝึกซ้อม ณ สหพันธ์สา...ธรณรัฐเยอรมนี รวมเวลา 45 วัน เพื่อให้นักฟุตบอลมีประสบการณ์และมาตรฐานการเล่นทัดเทียมทีมระดับแนวหน้าของทวีปเอเชียสมัยนั้น อย่างเช่น ทีมชาติพม่า, ทีมชาติเวียดนามใต้, ทีมชาติมาเลเซีย, ทีมชาติอินโดนีเซีย และทีมชาติเกาหลีใต้

ภายหลังกลับจากแผ่นดินยุโรป ทีมไทยเข้าร่วมการแข่งขันศึกลูกหนังเมอร์เดก้า (MERDEKA) ครั้งที่ 9 ณ ประเทศมาเลเซีย โดยสร้างผลงานดีกว่าปีก่อนจากการลงสนาม 5 นัด คือ ชนะ ทีมเกาหลีใต้ 3-2, แพ้ ทีมไต้หวัน 2-3, เสมอ ทีมพม่า 1-1, เสมอ ทีมญี่ปุ่น 0-0 และเสมอ ทีมฮ่องกง 1-1 ซึ่งทีมเกาหลีใต้ครองแชมป์ร่วมกับทีมไต้หวัน

ในทัวร์นาเม้นท์ดังกล่าวนั้น สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ AFC. ตั้งอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้พิจารณาคัดเลือกผู้เล่นทีมดาราเอเชีย (ASIAN ALL STAR) เป็นครั้งแรก สำหรับตำแหน่งผู้รักษาประตู คือ “จอมเหิรหาว” อัศวิน ธงอินเนตร นักฟุตบอลทีมชาติไทย

รายการต่อมา ลูกหนังฉลองเอกราชที่เวียดนามใต้ ทีมไทยต้องลงเล่นท่ามกลางควันสงครามระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลกับพวกเวียดกง ที่อยู่ห่างจากสนามเพียง 5 กิโลเมตร จึงมีผลงานไม่ดีนัก คือ แพ้ ทีมมาเลเซีย 1-2 และแพ้ ทีมเวียดนามใต้ 0-4 ทำให้ตกรอบแรกในที่สุด

ก่อนจะถึงเกมแห่งศักดิ์ศรี กีฬาแหลมทอง (SOUTHEAST ASIAN PENINSULAR GAMES) ครั้งที่ 3 ค.ศ.1965 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประมาณ 2 สัปดาห์ อัศวิน ธงอินเนตร นายทวารมือหนึ่งของเอเชียและทีมไทย ได้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตระหว่างการลงทีมฝึกซ้อม ณ สนามฟุตบอลบางนา ของสโมสรธนาคารกรุงเทพ ในขณะที่ อนุสิทธิ์ สุวรรณเนตร ผู้รักษาประตูอีกคนขอถอนตัว “ลุงต่อ” พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ ยมนาค นายกสมาคมฯ และรองประธานฟีฟ่า ฝ่ายกิจการเอเชีย (VICE-PRESIDENT FIFA 1966-1974) จึงต้องเรียกตัว 2 นายทวารเยาวชนไทยชุดชิงแชมป์แห่งเอเชีย (AFC YOUTH CHAMPIONSHIP) ครั้งที่ 7 ณ ประเทศญี่ปุ่น ที่พึ่งเดินทางกลับประเทศ ให้เลื่อนชั้นเสริมทีมแทน

ทีมชาติไทยชุดกีฬาแหลมทอง (พ.ศ. 2508) จำนวน 18 คน คือ ผู้รักษาประตู ครรชิต สมิตานนท์, บันเทิง เหมเวช กองหลัง สุพจน์ พานิช (หัวหน้าทีม), เฉลิม โยนส์, ณรงค์ สังขสุวรรณ์, ยงยุทธ สังขโกวิท, ไพศาล บุพพศิริ, พิชัย สาลักษณ์, อนันต์ คงเจริญ กองกลาง ชูชาติ ถนอมไชย, สมพล ฆารไสว, ทวีพงษ์ เสนีวงษ์ ณ อยุธยา, วิชิต แย้มบุญเรือง กองหน้า อัษฏางค์ ปาณิกบุตร, ยรรยง ณ หนองคาย, สมศักดิ์ อ่อนสมา, ประสาน ด่านเจริญวนกิจ และประเดิม ม่วงเกษม มี พ.อ.ประเทียบ เทศวิศาล เป็นผู้ฝึกสอน นายลัยอาจ ภมะราภา เป็นผู้จัดการทีม

กีฬาแหลมทอง (SOUTHERAST ASIAN PENINSULAR GAMES) ครั้งที่ 3 ณ สหพันธรัฐมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 15-21 ธันวาคม 2508 กีฬาประเภทฟุตบอล มีภาคีสมาชิกส่งทีมเข้าแข่งขัน รวม 5 ชาติ คือ ทีมชาติพม่า, ทีมชาติเวียดนามใต้, ทีมชาติไทย, ทีมชาติสิงคโปร์ และทีมชาติมาเลเซีย (แชมป์เก่า) ขาดเพียงทีมชาติลาว และทีมชาติเขมร

อนึ่ง ประเทศเขมร หรือกัมพูชานั้น ตามวาระแล้ว จะต้องเป็นเจ้าภาพกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 3 ใน พ.ศ.2506 แต่ก่อนถึงกำหนดการแข่งขัน 1 ปี ได้เกิดกรณีข้อพิพาท “เขาพระวิหาร” กับประเทศไทย จึงอ้างเหตุความไม่พร้อม ทำให้ต้องงดจัดการแข่งขันปีดังกล่าว เมื่อมาถึงปี พ.ศ.2508 ก็ไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมมหกรรมอีกเช่นกัน เนื่องจาก “เซียพเกมส์” กีฬาระหว่างชาติบนแหลมทอง เกิดจากแนวคิดของคนไทย แต่เขมรกลับไปจัด “กีฬาฟูกาโน่” ที่กรุงพนมเปญ ขึ้นมาแทน แต่โอลิมปิกสากล (IOC.) นั้น ไม่อนุญาตให้จัดกีฬาดังกล่า

เมื่อมีแค่ 5 ชาติ เจ้าภาพมาเลเซีย (แชมป์เก่า) จึงขอสิทธิ์เป็นทีมยืนในรอบรองชนะเลิศ ส่วน 4 ทีมที่เหลือใช้วิธีจับสลากประกบคู่รอบแรก ทีมชนะจะเข้ารอบตัดเชือกทันที โดยทีมแพ้ของแต่ละคู่ยังต้องพบกัน เพื่อหาผู้ชนะอีก 1 ทีมผ่านเข้าสู่รอบ 4 ทีมสุดท้าย ต่อไป

15 ธันวาคม 2508 รอบแรก ทีมชาติเวียดนามใต้ พบ ทีมชาติไทย นักเตะ “สกุลเหงียน” มีชั้นเชิงและเทคนิค การเล่นเหนือกว่าผู้เล่นลุ่มเจ้าพระยา เมื่อหมดครึ่งแรก ทีมญวนใต้นำอยู่ 1-0

ใน น.50 ของครึ่งหลัง “เจ้าจิ้งเหลนไฟ” อัษฏางค์ ปาณิกบุตร ยิงลูกเรียดระยะ 20 หลา ตีเสมอเป็น 1-1 ก่อนที่ ประสาน ด่านเจริญวนกิจ จะผ่านบอลมาหน้าประตู ประเดิม ม่วงเกษม เตะอัดเต็มหลังเท้าลูกพุ่งเข้าสู่ก้นตาข่าย ทีมไทยพลิกสถานการณ์กลับมาชนะในที่สุด 2-1 แต่ทว่า “เจ้าเอ็ด” ณรงค์ สังขสุวรรณ์ (ดาราเอเชีย คนที่ 2 ของทีมชาติไทย) กองหลังคนสำคัญมีอาการบาดเจ็บหนัก จนต้องใส่เฝือกและอดลงสนามตลอดทัวร์นาเม้นท์

รอบรองชนะเลิศ 18 ธันวาคม 2508 ทีมชาติเวียดนามใต้ พบ ทีมชาติไทย การย้อนกลับมาพบกันในรอบ 3 วัน ภายหลังจากทีมญวนชนะทีมลอดช่องสิงคโปร์ 2-0 ทีมธงไตรรงค์วางแผนการเล่นเป็นอย่างดี กระทั่งนักเตะสกุลเหงียนไม่สามารถจะทำประตูได้ ครึ่งแรกเสมอกัน 0-0

เมื่อมาถึง น.61 พิชัย สาลักษณ์ ผ่านลูกให้ ประเดิม เข้าซัดประตูแรก 1-0 ต่อมา น.70 “ศูนย์หน้าตีนระเบิด” ยรรยง ณ หนองคาย ศูนย์หน้าอีกคนจึงยิงเพิ่มสกอร์ให้ทีมไทยออกนำห่าง 2-0 จนหมดเวลาการแข่งขัน ขุนพลนักเตะสยามเข้าชิงเป็นสมัยที่สอง เช่นเดียวกับทีมชาติพม่าที่พิชิตทีมเจ้าถิ่นมาเลเซีย 2-0

สำหรับคู่ชิงชนะเลิศ ต่างปราบคู่ปรับเก่าที่เคยสร้างความผิดหวังเมื่อครั้งรับเป็นเจ้าภาพ คือครั้งที่ 1 (พ.ศ.2502) ที่กรุงเทพฯ ทีมไทย แพ้ ทีมเวียดนามใต้ 1-3 และครั้งที่ 2 (พ.ศ.2504) ที่ย่างกุ้ง ทีมพม่า แพ้ ทีมมาเลเซีย 0-2

รอบชิงชนะเลิศ ฟุตบอลกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 3 วันที่ 21 ธันวาคม 2508 ณ สนามเมอร์เดก้า สเตเดี้ยม ทีมชาติพม่า พบ ทีมชาติไทย ท่ามกลางแฟนลูกหนังกว่า 40,000 คน

นักเตะธงไตรรงค์เปิดเกมก่อน ด้วยการรุกเข้าใส่ทีมพม่าเจ้าของเหรียญทองกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ (ASIAN GAMES) ครั้งที่ 4 ค.ศ.1962 ครั้งล่าสุด อยู่พักใหญ่ เมื่อผู้เล่นสกุลหม่องสามารถคอนโทรลบอลได้ จึงเริ่มโต้กลับอย่างหนักช่วงท้ายของครึ่งแรก ในขณะที่แฟนบอลชาวมาเลย์ส่งเสียงเชียร์นักเตะโสร่งกันลั่นสนาม ทว่าจากลูกส่งริมสนาม น.35 ประเดิม มีจังหวะหลุดเดี่ยวเข้าไปยิงเสียบมุมเสา ทีมไทยขึ้นนำครึ่งแรก 1-0

ครึ่งหลัง น.64 “นักเตะสารพัดตำแหน่ง” วิชิต แย้มบุญเรือง วิ่งเข้าอัดบอลมุดคานบน ทีมลุ่มเจ้าพระยานำทีมจากสาละวิน 2-0 หลังจากประตูนี้ ขุนพลนักเตะสยามต้องถอยร่นลงมาตั้งรับเพราะโดนโหมบุกหนักอย่างต่อเนื่อง น.63 เฮือง เคียน ยิงไล่ขึ้นมา 1-2 ต่อมา น.72 ทีมพม่าตีเสมอสำเร็จ 2-2 และพยายามจะเร่งเกมเร็วขึ้น เพื่อหวังจะเผด็จศึกทีมไทยให้ได้ใน 90 นาที ขณะที่สายฝนโปรยปรายลงมาตลอดท้ายเกม จนกระทั่งหมดเวลาปกติ

ช่วงต่อเวลาพิเศษอีก 30 นาที แม้ว่านักฟุตบอลลุ่มเจ้าพระยาจะเริ่มอ่อนแรงลง และเกมส่วนใหญ่ตกเป็นฝ่ายตั้งรับ แต่เนื่องจากถูกฝึกมาแบบทหารทั้งด้านพละกำลัง และความมีระเบียบวินัย ภายใต้การฝึกสอนของโค้ชทีมชาติ “นายพันลูกหนัง” พ.อ.ประเทียบ เทศวิศาล จึงยังทำให้ขุนพลนักเตะสยามยันการบุกอดีตคู่สงครามเอาไว้ได้ เมื่อสิ้นเสียงนกหวีดยาวของกรรมการผู้ตัดสิน ทีมไทย เสมอ ทีมพม่า 2-2

การครอง “เหรียญทองเซียพเกมส์” คือความสำเร็จระดับชาติรายการแรกในประวัติศาสตร์ของทีมชาติชุดใหญ่ เพราะนอกจากจะชนะเลิศร่วมกับ “โคตรลูกหนัง” ทีมชาติพม่ายุคทศวรรษ 60 แล้วยังสามารถลบคำปรามาสที่ว่า “เล่นเก่งแต่ในบ้าน” ลงราบคาบ ณ “ดินแดนอาถรรพ์” สนามเมอร์เดก้า ของมาเลเซีย หลังจากนั้น 3 ปี ทีมชาติไทยจึงผ่านรอบคัดเลือกได้ลงเล่นฟุตบอลโอลิมปิก ครั้งที่ 19 ค.ศ.1968 (พ.ศ.2511) ณ ประเทศเม็กซิโก เป็นความยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่องสมัยหนึ่งของวงการลูกหนังเมืองไทย.

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ