Web Analytics
บทความ อินดิเพนเด้นท์ คัพ 1994

เพื่อเผยแพร่เกียรติประวัติและเกียรติภูมิของวงการฟุตบอลไทย

บทความ เรื่อง "อินดิเพนเด้นท์คัพ 1994"

 

ในหน้าบันทึกอนุทินลูกหนังไทย การครองแชมป์สองรายการติดต่อกัน โดยเฉพาะเป็นฝีเท้าของนักเตะชุดบี ยังไม่เคยปรากฎขึ้นมาก่อน และที่สำคัญกว่านั้น คือความสำเร็จนอกประเทศอีกด้วย แต่ปี พ.ศ.2537 ทีมชาติชุดเล็กสามารถสร้างประวัติศาสตร์ครองถ้วยพระราชทานคิงส์คัพได้อย่างประทับใจ ทำให้คอฟุตบอลต่างชื่นชมและศรัทธา ความทุ่มเทของเยาวชนที่รู้จักกันทั่วไป ยุคนั้นว่า “ดรีมทีม”

 

เมื่อ “ทีมแห่งความฝัน” อันเป็นความหวังของอนาคตวงการฟุตบอลเมืองไทย คว้าแชมป์คิงส์คัพ ครั้งที่ 25 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2537 ด้วยการถล่มทีมรวมสมัครเล่นจากประเทศเยอรมนี 4-0 แล้ว “ป๋าลอ” พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ นายกสมาคมฯ จึงเห็นสมควรใช้นักเตะชุดนี้ เดินทางไปร่วมศึกลูกหนังกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ (ASIAN GAMES) ครั้งที่ 12 ค.ศ.1994 ณ เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น

 

แต่ก่อนจะถึงมหกรรมกีฬาของชาวเอเชีย ช่วงปลายปี จึงมีการเรียกผู้เล่นที่มีประสบการณ์เข้ามาเสริมจุดอ่อนบางตำแหน่ง โดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้ส่งทีมลงฟาดแข้งที่ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องและทดสอบระบบการเล่น

 

ทีมชาติไทยชุดอินดิเพนเด้นท์คัพ (พ.ศ. 2537) จำนวน 18 คน คือ ผู้รักษาประตู วัชพงศ์ สมจิตต์, สราวุธ คำบัว กองหลัง สิริศักดิ์ ขะเดหรี (หัวหน้าทีม), นที ทองสุขแก้ว, สุเมธ อัครพงศ์, สุพล เสนาเพ็ง, กิตติ โสระโร, พัฒธนพงศ์ ศรีปราโมช, อภิชาติ ทวีเฉลิมดิษฐ์, โกวิทย์ ฝอยทอง กองกลาง ดุสิต เฉลิมแสน, สุรชัย จตุรภัทรพงศ์, ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล, ตะวัน ศรีปาน กองหน้า สมาน ดีสันเทียะ, สุชิน พันธ์ประภาส, คณิต อัจฉราโยธิน และเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง มี นายวรวิทย์ สัมปัชัญญสถิตย์ เป็นหัวหน้าสตาฟฟ์โค้ช นายธวัชชัย สัจจกุล เป็นผู้จัดการทีม

 

การแข่งขันฟุตบอลอินดิเพนเด้นท์คัพ ครั้งที่ 7 หรือรายการฉลองเอกราชของอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 8-15 สิงหาคม 2537 ณ ประเทศอินโดนีเซีย มีทีมร่วมสังฆกรรมแข้ง รวม 7 ชาติ เจ้าภาพแบ่งออกเป็น 2 สาย คือ สาย A มี ทีมชาติมาเลเซีย, ทีมชาติสิงคโปร์, ทีมรวมมหาวิทยาลัย (เกาหลีใต้) และทีมชาติอินโดนีเซียชุด เอ และสาย B มี ทีมชาติเมียนมาร์, ทีมชาติไทย, ทีมเวสเธิร์น สเตจ (ออสเตรเลีย) และทีมชาติอินโดนีเซียชุด บี

 

8 สิงหาคม 2537 รอบแรก ณ สนามเท็น โนเปเปอร์ เกาะสุราบายา ทีมเวสเธิร์น สเตจ พบ ทีมชาติไทย นักเตะออสซี่เป็นนักศึกษาและรูปร่างเฉลี่ยสูงถึง 182 เซนติเมตร ในช่วงแรกทีมจิงโจ้สามารถครองเกมบุกเอาไว้ได้ ก่อนผู้เล่นธงไตรรงค์จะเข้าสู่เกมช่วงท้ายครึ่งแรก น.37 “ไรอันกุ้ง” สุชิน พันธ์ประภาส จิ้มลูกตุงตาข่าย ทีมไทยขึ้นนำ 1-0 แต่ น.44 ทีมชนะเลิศของรัฐภาคตะวันตกจากประเทศออสเตรเลีย ตีเสมอสำเร็จจากการโหม่งของ สตีฟ บอร์น 1-1

 

ครึ่งหลัง “ซิกล้วย” โกวิทย์ ฝอยทอง ลงแทน กิตติ โสระโร และน.50 “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ลงแทน คณิต อัจฉราโยธิน แต่ก็ไม่สามารถจะยิงประตูเพิ่มกันได้อีก ทีมไทย เสมอ ทีมจากออสเตรเลีย 1-1

 

10 สิงหาคม 2537 ทีมชาติอินโดนีเซีย (บี) พบ ทีมชาติไทย นัดแรกเจ้าถิ่นชุดฮาริเมาชนะทีมเมียนมาร์ (2-0) ดังนั้น นักเตะเชื้อสายชาวสุราบายาจึงเปิดเกมรุกหนัก 10 นาทีแรก เมื่อผู้เล่นจากแดนสยามเริ่มจับทางได้ ทีมเจ้าบ้านจึงโดนถูกพับสนามบ้าง จนทำให้แฟนลูกหนังชวาบางส่วนหันมาเชียร์เด็กไทยลั่นสนาม น.44 สุชิน ลงแทน คณิต ครึ่งแรกสกอร์ 0-0

 

ครึ่งหลัง เกมต่างพลัดกันรุกพลัดกันรับ นักเตะอิเหนาเล่นแรงและหนักขึ้น น.70 “เจ้าโอ่ง” ดุสิต เฉลิมแสน ฉวยจังหวะเปิดฟรีคิกเร็ว สุชิน วิ่งเข้าซัดระยะ 30 หลา ให้ทีมเยือนขึ้นนำ 1-0 น.70 “เจ้าง้วน” สุรชัย จตุรภัทรพงศ์ ลงแทน “สุภาพบุรุษลูกหนัง” ตะวัน ศรีปาน จนหมดเวลาการแข่งขัน ทีมไทย ชนะ ทีมอินโดนีเซีย แบบหวุดหวิด 1-0

 

12 สิงหาคม 2537 ทีมชาติเมียนมาร์ พบ ทีมชาติไทย แมตช์แห่งศักดิ์ศรีระหว่างชาติ แม้ว่าทีมนักเตะ “สกุลหม่อง” พม่าจะตกรอบไปแล้วก็ตาม (แพ้ ทีมอินโดนีเซีย 0-2, แพ้ ทีมเวสเธิร์น สเตจ 1-4) การแข่งขันเป็นไปอย่างตื่นเต้นและสูสี มีโอกาสจะทำสกอร์ได้ทั้งสองฝ่าย น.34 ตะวัน รับบอลจากกลางสนามแล้วเลี้ยงหลอกนายทวารยิงประตูขึ้นนำ ครึ่งแรก 1-0

 

น.51 เกียรติศักดิ์ โยกหลบกองหลัง “จอมโสร่ง” ถึง 3 คน ก่อนจะส่องขยับสกอร์เป็น 2-0 แต่แล้ว น.66 ทิน เมียว อ่อง สังหารจุดโทษไล่ตามมา 1-2 ทีมไทยระส่ำหนัก เพราะกรรมการชาวอิเหนาเป่าเข้าข้างนักเตะพม่า ตามเสียงเชียร์ของแฟนฟุตบอลรอบสนาม น.67 สุรชัย ลงแทน ตะวัน น.88 ผู้ตัดสินก็ยังคงให้ทีมลุ่มเจ้าพระยาเสียจุดโทษอีกครั้ง ทิน เมียว อ่อง บรรจงยิงไม่พลาด จบเกม ทีมไทย เสมอ ทีมเมียนมาร์ ชนิดน่ากังขากันทั่วหน้า 2-2

 

อนึ่ง เจ้าภาพอิเหนาเจ้าเล่ห์ต้องการจะให้ทีมไทย มีคะแนนเป็นที่ 2 เมื่อผลการแข่งขันออกมาเสมอกันนั้น ทำให้ทีมอินโดนีเซียชุดบี (ชนะ ทีมเวสเธิร์น สเตจ 1-0) คืออันดับ 1 ของสาย A ทันที และได้เข้าไปตัดเชือกกับทีมอินโดนีเซียชุดเอ ในรอบ 4 ทีมสุดท้าย นั้นเอง

 

รอบรองชนะเลิศ 14 สิงหาคม 2537 ทีมรวมมหาวิทยาลัย (เกาหลีใต้) พบ ทีมชาติไทย เกมนัดนี้ เล่นกันอย่างเร้าใจ น.4 สุชิน ได้ใบเหลือง น.15 ลี วุน ซิก ยิงจากกรอบเขตโทษ โสมขาวขึ้นนำ ครึ่งแรก 1-0

 

น.48 สุชิน ซัดลูกผ่านมือ ลี วุน จี ผู้รักษาประตูชุดฟุตบอลโลก ตีเสมอสำเร็จ 1-1 น.51 เกียรติศักดิ์ ยิงให้ทีมธงไตรรงค์พลิกกลับนำบ้าง 2-1 น.65 “ซิโก้” ยังโชว์ฟอร์มซัลโวสกอร์ออกนำห่าง 3-1 แต่ น.68 ทีมอารีดังมาได้จุดโทษจาก เจียง เดียง อิล ตีตื้นมาเป็น 2-3 ก่อนต้องเปลี่ยน สุรชัย ลงแทน “เจ้ามัน” อภิชาติ ทวีเฉลิมดิษฐ์ และ “วังลันตา” ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล ลงแทน สุชิน จนจบเกม 90 นาที ทีมไทย ชนะ ทีมจากเกาหลีใต้ 3-2 ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศของทัวร์นาเม้นต์เป็นสมัยแรก

 

รอบชิงชนะเลิศ ฟุตบอลอินดิเพ้นเด้นท์คัพ ครั้งที่ 7 วันที่ 15 สิงหาคม 2537 ทีมชาติอินโดนีเซีย (บี) พบ ทีมชาติไทย คู่ปรับเก่าจากรอบแรก (ชนะ ทีมอินโดนีเซียชุด เอ 3-1) ท่ามกลางแฟนลูกหนังชาวชวากว่า 20,000 คน นักเตะจากสยามเปิดเกมรุกเป็นส่วนใหญ่ ทว่าจังหวะสุดท้ายยังไม่สามารถจะจบสกอร์ได้ น.43 พัฒธนพงศ์ โดนใบเหลืองแรกของเกมที่มีทั้งหมด 4 ใบ ครึ่งแรก 0-0

 

ในช่วง 45 นาทีหลัง สุพล ลงแทน “เจ้าโป้น” สุเมธ อัครพงศ์ น.67 ธวัชชัย ยิงให้ทีมไทยออกนำก่อน 1-0 แต่ น.68 มัลโน่ ผู้เล่นอิเหนาเข้าซ้ำจุดโทษที่ถูกปัดออกมาเข้าทางเท้าพอดี จึงเสมอกัน 1-1 น.75 คณิต ลงแทน สุชิน น.80 คอนโดโร่ นักเตะเจ้าถิ่นโดนใบแดงจากการเข้าเสียบหนักเกินเหตุ จนหมดเวลาปกติและช่วงต่อเวลาพิเศษอีก 30 นาที ก็ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะทำสกอร์เพิ่มกันได้อีก

 

จึงต้องตัดสินด้วยการยิงลูกจากจุดโทษ ดุสิต เฉลิมแสน ยิงเข้ามุมประตู 1-0, บูรุฟ อีโคโดโน่ เตะไปถูก วัชรพงศ์ สมจิตร คว้าลูกติดมือเอาไว้ได้ 0-1, พัฒธนพงศ์ ศรีปราโมช ยิงเข้ากลางประตู 2-0, แอน จิต อัดแปเสียบมุม 1-2, ตะวัน ศรีปาน ซัดเข้ามุมขวา 3-1, วิจา นาร์โก ยิงมุมคานบน 2-3, คณิต อัจฉราโยธิน แปเรียดเข้ามุมซ้าย 4-2 และคริส วัน โต้ กัปตันทีมอิเหนาซัดข้ามคานบน 2-4 ทำให้ ทีมไทย ชนะ ทีมอินโดนีเซีย (บี) ด้วยการเตะจุดโทษ 4-2 (1-1) ก้าวขึ้นรับถ้วยชนะเลิศพร้อมเงินรางวัล 10,000 เหรียญสหรัฐ ท่ามกลางความยินดีของเจ้าหน้าที่ทีมและบรรดาเหล่ากองเชียร์ชาวไทยในสนาม

 

นับเป็นความสำเร็จนอกบ้านรายการที่ 3 ของทีมชาติไทย ในขณะที่ “ฮูลิแกนลูกหนัง” ชาวชวากว่าครึ่งพันทำใจให้ยอมรับกับความพ่ายแพ้ไม่ได้ จึงรวมตัวกันก่อจราจลย่อยเผาสนาม ก่อนกำลังทหารจำนวนราว 500 นาย จะเข้าควบคุมสถานการณ์คืนสู่สภาวะปกติ ในเวลาต่อมา.

 

จิรัฎฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ