Web Analytics
บทความ นักเลงฟุตบอลสวนกุหลาบ

บทความ เรื่อง "นักเลงฟุตบอลสวนกุหลาบ"

 

วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2443 ณ ท้องสนามหลวง กระทรวงธรรมจัดการแข่งขันฟุตบอลตามข้อบังคับของแอสโซซิเอชั่น หรือ "ASSOCIATION FOOTBALL" อย่างเป็นทางการครั้งแรกในสยามประเทศ ระหว่าง ทีมบางกอก กับ ทีมศึกษาธิการ ผู้เล่นฝ่ายแรกเป็นคนอังกฤษ ส่วนฝ่ายหลังมีทั้งคนสยามและชาวยุโรป ผลเสมอกัน 2 - 2 (0 - 1) โดยนักเตะของทีมศึกษาธิการ คือ W.G.JOHNSON, E.S.SMITH, H.E. SPIVEY และนายจำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา (พระยาอานุภาพไตรภพ) กลุ่มบุคคลสำคัญที่ช่วยกันบุกเบิกกีฬาฟุตบอลของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

 

เมื่อกรมศึกษาธิการ จัดการแข่งขันลูกหนังนักเรียน อายุไม่เกิน 20 ปี ชิงโล่ห์ของกระทรวงธรรมการ ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2444 มีโรงเรียนส่งเข้าร่วมฟาดแข้ง จำนวน 9 ทีม โดยปรากฏชื่อของโรงเรียนสวนกุหลาบ (อังกฤษ) และโรงเรียนสวนกุหลาบ (ไทย) ด้วย

 

แต่อีก 9 ปีต่อมา พร้อมกับการเริ่มก่อสร้างตึกยาว โรงเรียนสวนกุหลาบ มี E.J.GODFREY เป็นอาจารย์ใหญ่ จึงสามารถครองชนะเลิศฟุตบอลชิงโล่ห์ ประจำปี 2453 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทำพิธีพระราชทานโล่ ณ สามัคยาจารย์สมาคม ทรงพระราชทานเหรียญเงินมีรูปคนเล่นฟุตบอลให้แก่ทุกคน เหรียญดังกล่าวมีการสลักชื่อสำหรับติดหน้าอก นอกจากคำจารึกว่า “เล่นเป็นใจนักเลง”

 

นักเลงฟุตบอลชุดแรกที่นำความสำเร็จมาสู่ชาวชมพู-ฟ้า จำนวน 11 คน คือ เจริญ ศราภัยวานิช (พระเจริญวิศวกรรม), พงศ์ บุนนาค (พระนิตินัยประสาน), อาจ พรหมวีระ (หลวงอาพยากรณ์), อนันต์ (ขุนอนันต์ฯ), แม้น ฟูเกียรติ (หลวงแมนวิชชาประสิทธิ์), ป๋อ เชิดชื่อ (พระปวโรฬารวิทยา), วิสุทธิ์ โทณวณิก (พระยาโทณวณิกมนตรี), ฮวด, วิสิษฐ์ โทณวณิก (หลวงโทณวณิกพันธ์), บุนจ๋วน บุณยปานะ (พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร) และม.ร.ว.พงศ์ นวรัตน์ (หลวงพงษ์นวรัตน์)

 

ปีถัดมา ร.ศ. 130 ทีมโรงเรียนสวนกุหลาบ ยังชนะเลิศฟุตบอลชิงโล่เงิน ประจำปี 2454ของ “W.G.JOHNSON” ที่ปรึกษากระทรวงธรรมการ 1 ใน 3 รายการสำคัญของยุคนั้น เป็นทีมแรก ก่อนภายหลังจะคว้าแชมป์ 4 สมัยติดกัน (พ.ศ. 2455 - 2458) และ พ.ศ. 2463 ก่อนจะได้ครอบครองโล่ห์ดังกล่าว เป็นกรรมสิทธิ์ถาวรใน พ.ศ. 2466 เนื่องจากหมดพื้นที่ที่จะตรึงโล่ห์เล็กโดยรอบได้อีก เนื่องจากทีมย่านสะพานพุทธชนะเลิศมากที่สุด รวม 6 ปี

 

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2458 ณ สามัคยาจารย์สมาคม รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ก่อตั้ง “คณะฟุตบอลสำหรับชาติสยาม” หรือ “ทีมชาติสยาม” ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อประกาศรายชื่อ 11 คนแล้ว มีพิธีพระราชทานหมวกที่มี “ตราพระมหามงกุฎ” อันเป็นเครื่องหมายเกียรติยศการรักชาติ ก่อนจะลงแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติ ในวันที่ 23 พฤศจิกายน ณ สนามราชกรีฑาสโมสร สระปทุมวัน อาจกล่าวได้ว่า “สนามฟุตบอลโรงเรียนสวนกุหลาบ” นอกจาก คือ สนามกีฬาอย่างเป็นทางการแห่งแรกของประเทศไทยแล้ว โดยรอบของสนามหญ้ายังคงมีประวัติศาสตร์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วย “มนต์ขลังแห่งตำนาน” โดยมีนักเลงฟุตบอลสวนกุหลาบ ติดทีมชาติยุคแรกของสยาม (พ.ศ. 2458-2473) คือ แถม ประภาสะวัต (หลวงกายวิภาคบรรยาย), บุญชู ศีตะจิตต์ (พระเชษธไวทยากร), อู๋ พรรธนะแพทย์ (พระยาพณิชยศาสตร์วิธาน), ศักดิ์ (ฮก) คุปตะวาณิช (ขุนประสิทธิ์วิทยกร), ชาย บุนนาค, นุ จุฑานนท์, พิเศษ (เฮงหย่วน) เสาวนะ, สกล สาตราภัย ฯลฯ

 

ก่อนที่สโมสรสวนกุหลาบจะแสดงความยิ่งใหญ่ในเชิง “หมากเตะ” อย่างต่อเนื่อง เมื่อชนะเลิศฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ประเภทถ้วยใหญ่ (ถ้วย ก ) ได้ถึง 2 ปีซ้อน (พ.ศ. 2471-2472) นับเป็นความสำเร็จสูงสุดของทีมชมพู-ฟ้า กับรายการแข่งขันลูกหนังภายในประเทศ นอกจากทีมชาติไทย จะเกิดมี “2 ดาราเอเชีย” ที่มาจากรั้วตึกยาว คือ อัศวิน ธงอินเนตร และณรงค์ สังขสุวรรณ และทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ 110 ปี ตำนานนักเลงลูกหนัง... “สวนกุหลาบต้องไว้ลาย”.

 

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ