Web Analytics
บทความ ดรีมทีม

บทความ เรื่อง ดรีมทีม

 

คำว่า “DREAM TEAM” ในวงการกีฬาโลก ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อ 19 ปีที่แล้ว โดย IOC. (INTERNATIONAL OLYMPIC COMMITTEE) ทำการแก้ไขกฎให้นักกีฬาอาชีพเข้าร่วมมหกรรมได้ ดังนั้น ความฝันของอเมริกันชนที่ต้องการเห็นเหล่าซุปเปอร์สตาร์วงการยัดห่วง NBA. เข้าแข่งขันในนาม “ทีมชาติสหรัฐอเมริกา” แทนนักบาสเกตบอลจากมหาวิทยาลัย จึงเป็นความจริงขึ้นมา ก่อนพวกเขาจะสามารถคว้าเหรียญทองมาครองเหนือทีมชาติรัสเซีย ในโอลิมปิก ครั้งที่ 25 ค.ศ.1992 (พ.ศ.2535) ณ ประเทศสเปน

 

ในขณะเดียวกัน ความล้มเหลวของทีมชาติไทยที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ พ.ศ.2534 “บิ๊กหอย” นายธวัชชัย สัจจกุล จึงได้คัดเลือกบรรดานักเตะเยาวชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแค่ตัวสำรองตามสโมสรต่าง ๆ เพื่อร่วมเก็บตัวฝึกซ้อม สำหรับจุดมุ่งหมาย คือฟุตบอลกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 26 ค.ศ.1996 ณ เมืองแอตแลนต้า แต่ระหว่างการเตรียมทีมก็ลงสนามสร้างผลงานและประสบความสำเร็จหลายทัวร์นาเม้นต์ จนได้ชื่อว่าเป็น “ดรีมทีม” ของวงการลูกหนังเมืองไทย

 

ทีมชาติไทยชุดเอ (คิงส์คัพ พ.ศ.2537) จำนวน 18 คน คือ ผู้รักษาประตู ชัยยง ขำเปี่ยม, วิลาศ น้อมเจริญ กองหลัง นที ทองสุขแก้ว, ประนุพงศ์ ปิ่นสุวรรณ, สุเมธ อัครพงศ์, ประสงค์ พันธ์สวัสดิ์, อนัน พันแสง, สุรศักดิ์ ตังคสุรัตน์, กฤษดา เพี้ยนดิษฐ์, อภิชาติ ทวีเฉลิมดิษฐ์ กองกลาง อรรถพล บุษปาคม, ชรินทร์ ปาลศิริ, ธนัญชัย บริบาล, สุรชัย จตุรภัทรพงศ์ กองหน้า รณชัย สยมชัย, พงศธร เทียบทอง, คณิต อัจฉาโยธิน และวิฑูรย์ กิจมงคลศักดิ์ (หัวหน้าทีม) มี นายสมชาติ ยิ้มศิริ และท.พ.พิชัย ปิตุวงศ์ เป็นสตาฟฟ์โค้ช นายมนตรี สุวรรณน้อย เป็นผู้จัดการทีม

 

ทีมชาติไทยชุดบี (คิงส์คัพ พ.ศ.2537) จำนวน 18 คน คือ ผู้รักษาประตู วัชรพงศ์ สมจิตร, สราวุธ คำบัว กองหลัง สิริศักดิ์ ขะเดหรี (หัวหน้าทีม), สุพล เสนาเพ็ง, โกวิทย์ ฝอยทอง, ไวพจน์ มือชัยภูมิ, พัฒธนพงศ์ ศรีปราโมช, โชคทวี พรหมรัตน์ กองกลาง ตะวัน ศรีปาน, ดุสิต เฉลิมแสน, ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล, รุ่งเพชร เจริญวงศ์, โกสินทร์ ดีมาก กองหน้า สมาน ดีสันเทียะ, เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, สุชิน พันธ์ประภาส, วรพรรณ ตุ่นต้ม และธนากรณ์ กิตติธรรม มี นายชัชชัย พหลแพทย์, นายสุรินทร์ มาศมุททิก และนายวรวิทย์ สัมปชัญญสถิตย์ เป็นสตาฟฟ์โค้ช นายวิรัช ชาญพาณิชย์ เป็นผู้จัดการทีม

 

การแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 25 ระหว่างวันที่ 12-22 กุมภาพันธ์ 2537 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้แต่งตั้ง นายธวัชชัย สัจจกุล เป็นประธานจัดการแข่งขัน พร้อมทั้งเชิญทีมเข้าชิงชัย รวม 6 ชาติ มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้น ที่ส่ง “ทีมชาติ” เข้าร่วมแข่งขัน ผลการแบ่งสาย คือ สาย A มี ทีมธนาคาร คี ออฟ คูเน็ง (เกาหลีใต้), สโมสรโรเตอร์ (รัสเซีย), ทีมชาติมาเลเซีย (บี), และทีมชาติไทยชุดเอ และสาย B มี ทีมแคว้นเวสต์ฟาเล่น (เยอรมนี), ทีมรวมเจลีก (ญี่ปุ่น), ทีมชาติจีน (แชมป์เก่า) และทีมชาติไทยชุดบี

 

อนึ่ง เป็นครั้งสุดท้ายของศึกลูกหนังคิงส์คัพ ที่จะมีทีมเข้าแข่งขันเกินกว่า 4 ชาติ เนื่องจาก FIFA ได้กำชับ AFC. ดำเนินการควบคุมมาตรฐานทัวร์นาเม้นต์ของทวีปเอเชีย โดยให้เหลือเพียงรายการหลักเท่านั้น แต่ “คิงส์คัพ” คือถ้วยพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบัน ซึ่งทั่วโลกแสดงความยกย่อง ดังนั้น จึงได้รับอนุญาตให้จัดเป็นประจำทุกปี จนถึงปัจจุบัน

 

12 กุมภาพันธ์ 2537 ทีมชาติไทย (บี) พบ ทีมชาติจีน ผู้เข้าชมประมาณ 20,000 คน นักเตะแดนมังกร มี มร.เคล้า ชลัปเนอร์ โค้ชชาวเยอรมันเป็นผู้นำทีมแชมป์เก่ารวม 12 คน ผสมกับปรี-เวิลด์คัพ อีก 4 คน เดินทางมาป้องกันถ้วยพระราชทาน เมื่อเริ่มเล่นทีมเจ้าถิ่นชุดเล็กสามารถเปิดเกมอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าทีมหลังม่านไม้ไผ่ จะมีนักเตะกำลังสำคัญอย่าง ซู เถา, ฟาน จี อี้, หลี ปิง, เฮา ไห่ ตง และหลี หมิง แต่การโยนยาวสูตรบอลของจีนถูกผู้เล่น “ดรีมทีม” ไล่บี้ประชิดตัวจนเล่นไม่ออก ครึ่งแรก 0-0

 

น.53 “จอมตีลังกา” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ปาดบอลให้ “ไรอันกุ้ง” สุชิน พันธ์ประภาส วิ่งเติมขึ้นมาหวดเต็มสตั๊ดเสียบเสาไหล 1-0 ทีมเจ้าบ้านผ่อนเกมลง น.61 “ปีกปลาร้า” สมาน ดีสันเทียะ ผ่านลูกให้ สุชิน กระชากเข้ายิงกระแทกตาข่าย ทีมไทยขยับสกอร์ห่างเป็น 2-0 น.78 “วังลันตา” ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล ลงแทน รุ่งเพชร เจริญวงศ์ น.85 สุชิน พุ่งเสียบผิดจังหวะได้ใบเหลืองและมีอาการบาดเจ็บอีกต่างหาก สตาฟฟ์โค้ชจึงส่ง ธนากรณ์ กิตติธรรม ลงเล่นแทน เมื่อเหลืออีกนาทีเดียว น.89 นักเตะจีนแผ่นดินใหญ่ตีไข่แตกสำเร็จจาก เฮา ไห่ ตง ก่อนแชมป์เก่าทีมจีน แพ้ ทีมไทยชุดบี 1-2

 

14 กุมภาพันธ์ 2537 ทีมชาติไทย (บี) พบ ทีมรวมเจลีก (J.LEAGUE) การประลองฝีเท้านักเตะชุดปรี-โอลิมปิก ของทั้งสองชาติ การเล่นเข้มข้นและดุเดือด น.2 มาซาอากิ ซาวาโนโบริ กัปตันทีมนิปปอนก็ต้องรับใบเหลือง น.7 รุ่งเพชร ยิงกระทบคานบนแล้วกระเด้งลงพื้นในเส้นประตู ทีมเจ้าถิ่นขึ้นนำ 1-0 และช่วงท้ายเกมครึ่งแรก สุพล เสนาเพ็ง (น.37) และอาสึ ฮิโกะ (น.46) ได้รับเหลืองคนละใบ

 

ครึ่งหลัง ผู้เล่นทีมเจ้าบ้านและทีมเยือนเปิดเกมบุกแลกกัน น.58 “เจ้าแม็ค” พัฒธนพงศ์ ศรีปราโมช ได้เหลืองใบที่สามของเกม และน.82 สุพล โดนใบเหลืองแดง ทำให้ “ดรีมทีม” จึงเหลือผู้เล่นแค่ 10 คน ต่อมา น.85 “แบ็คซ้ายไดนาโม” โกวิทย์ ฝอยทอง ขึ้นโขกบอลจนหัวแตก น.87 “เจ้านกกระยางดำ” โชคทวี พรหมรัตน์ ลงแทน สุชิน กระทั่งหมดเวลา 90 นาที ทีมไทย ชนะ ทีมรวมเจลีกจากประเทศญี่ปุ่น หวุดหวิด 1-0 ลอยลำเข้ารอบต่อไปอย่างแน่นอนแล้ว จากชัยชนะ 2 นัดที่ลงสนาม

 

16 กุมภาพันธ์ 2537 ทีมชาติไทย (บี) พบ ทีมแคว้นเวสต์ฟาเล่น นักเตะอินทรีเหล็กแชมป์ลูกหนังสมัครเล่นสองสมัยของประเทศเยอรมัน ต้องการอีก 2 แต้ม ในขณะที่ทีมเจ้าถิ่นชุดเล็กขนเอาตัวสำรองลงสนาม เพื่อหาประสบการณ์ น.21 เรเนอร์ บอร์กไมเออร์ อัดลูกเสียบสามเหลี่ยมขึ้นนำไปก่อน ครึ่งแรก 1-0

 

45 นาทีสุดท้าย รุ่งเพชร ลงแทน ธวัชชัย ดรีมทีมพยายามจะแก้ประตูคืน น.78 สิริศักดิ์ ขะเดหรี กัปตันทีมขวางการเล่นของคู่ต่อสู้จนได้รับใบเหลือง จบเกม ทีมไทยชุดบี พ่าย ทีมแคว้นเวสต์ฟาเล่น 0-1

 

รอบรองชนะเลิศ 19 กุมภาพันธ์ 2537 ทีมชาติไทย (บี) พบ สโมสรโรเตอร์ (ROTOR) นักเตะดรีมทีมทำการโพกฟ้าแดงคาดหัวลงสนาม โดยฟอร์มทั่วไปเสียเปรียบทีมรองแชมป์ดิวิชั่น 1 จากประเทศรัสเซีย (ปีถัดมา ได้ลงเล่นฟุตบอลยูฟ่าคัพ) ที่มีสองผู้เล่นทีมชาติ “หมีขาว” คือ เวเรเทนิคอฟ และเยราเซียนคอฟ เกมการเล่นแรงขึ้นตามลำดับ จนกรรมการต้องเบรคด้วยการแจกใบเหลืองถึง 2 ใบ คือ วราดีเมียร์ เกลาเชนโก้ น.14, ฮุสซิน รูสเตน น.41 และก่อนหมดครึ่งแรก น.45 วราดีเมียร์ เกลาเชนโก้ เจตนาย่ำใส่ สุชิน ทำเอาแฟนฟุตบอลชาวไทยถึงกับปาขวดน้ำลงมายังซุ้มม้านั่งสำรองผู้เล่นทีมเยือนเลยทีเดียว ครึ่งแรก 0-0

 

ครึ่งหลัง น.59 สโมสรโรเตอร์ก็ต้องเหลือนักเตะในสนามเพียง 10 คน เมื่อ วราดีเมียร์ ได้ใบเหลืองแดงจนได้ ก่อนผู้เล่นทีมเยือนจะเริ่มหมดแรง จึงถูกทีมเจ้าถิ่นโหมรุกหนักช่วง 20 นาทีสุดท้าย แต่หมดเวลาปกติเสียก่อน 0-0

 

ในช่วงต่อเวลาพิเศษ น.100 เวเรเจนนีกอฟ โอเล็ก เจอใบเหลืองที่ 6 ของเกม น.101 โกวิทย์ ผ่านลูกเข้ากลางประตู เกียรติศักดิ์ เกี่ยวได้พร้อมทั้งหมุนตัวแปบอลลอดแขนนายทวารหมีขาว ดรีมทีมขึ้นนำ 1-0 ท่ามกลางเสียงจุดพลุ และเล่นเวฟของคอลูกหนังชาวไทยอย่างสนุกสนาน น.109 ธวัชชัย ลงแทน รุ่งเพชร น.111 สโตกอฟ โอเลก นักเตะรัสเซียได้ใบเหลืองที่ 7 และน. 116 โชคทวี ลงแทน สุพล จนกระทั่งจบเกม ทีมไทยชุดบี ชนะ สโมสรโรเตอร์ 1-0 ทีมเจ้าบ้านชุดเล็กผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ฟุตบอลคิงส์คัพ

 

รอบชิงชนะเลิศ ฟุตบอลคิงส์คัพ ครั้งที่ 25 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2537 ณ สนามศุภชลาศัยฯ ทีมชาติไทย (บี) พบ ทีมแคว้นเวสต์ฟาเล่น ท่ามกลางแฟนลูกหนังกว่า 20,000 คน ทีมเยอรมันขนผู้เล่นจากบุนเดสลีกา รวม 7 คน คือ มาร์คุส แกร์วีน และมัททีอัส เซลมีน (โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์), มาร์คุส ปรีเครอฟสกี้ และไรเนอร์ บอร์กไมเออร์ (ชาลเก้ 04), จอร์ท ซิลเบอร์บัค, กีโด ซิลเบอร์บัค และมาริโอ แพลค ซาตี้ (วัตเท่นไชด์) โดย 1 ปีก่อนนั้น นักเตะเมืองไส้กรอกเคยคว้าแชมป์ฟุตบอลรายการหนึ่งที่ประเทศเนปาลมาแล้ว

 

เริ่มการแข่งขัน ทีมเจ้าถิ่นชุดสีแดงไม่เกรงกลัวศักดิ์ศรีของคู่ชิงแต่อย่างใด แม้ว่ารอบแรกจะเคยปราชัยกันมาก่อน ก่อนเปิดฉากสร้างความกดดันให้ผู้เล่นอินทรีเหล็กทันที ด้วยการขยับวิ่งเข้าหาช่องตลอด 45 นาทีแรก แต่ยังไม่สามารถปิดสกอร์ได้เท่านั้น จบครึ่งแรก 0-0

 

น. 58 รุ่งเพชร ชิ่งลูกสั้นให้ เกียรติศักดิ์ คลึงบอลทำท่าจะส่งต่อแต่กลับผลิกแหวกฝ่าแนวกำแพงเบอร์ลินเข้าไปยิงเรียดเสียบมุมเสาอย่างงดงาม 1-0 น.68 โกวิทย์ ลากลูกก่อนซัดจากระยะ 15 หลา แฉลบสู่ก้นตาข่าย 2-0 น.70 สมาน เปิดให้ สุชิน ขึ้นโหม่งเป็นประตู 3-0 น.73 “เจ้าแบนเลี้ยวขวา” ตะวัน ศรีปาน วิ่งควบเข้ากรอบเขตโทษแล้วล๊อกหนึ่งจังหวะ จึงสับไกยิงบอลผ่านมือ มิชาเอล โยสวิค นายทวารเมืองเบียร์ เป็นสกอร์สุดท้าย จบเกม ทีมไทย ชนะ ทีมจากเยอรมนี 4-0 เท่ากับผลการแข่งขันนัดชิงปีที่แล้ว (ทีมไทย แพ้ ทีมจีน 0-4) ในขณะที่ทีมไทยชุดเอ ครองแค่อันดับ 4 เมื่อพ่ายการเตะจุดโทษตัดสินต่อสโมสรโรเตอร์ 5-6 (2-2) ผู้ยิงเข้า คือ “เจ้ามัน” อภิชาติ ทวีเฉลิมดิษฐ์ , “จอมล้นลาน” รณชัย สยมชัย และ “เสือเตี้ย” ประสงค์ พันธ์สวัสดิ์

 

ทีมชาติไทยชุด B สามารถสร้างตำนานอีกบทหนึ่งในรอบ 26 ปี ของฟุตบอลถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ โดยสามประสานผู้อยู่เบื้องหลัง “ดรีมทีม” คือ นายธวัชชัย สัจจกุล, “บิ๊กก๊อง” นายวิรัช ชาญพานิชย์ และ “โค้ชจอมฟิต” นายชัชชัย พหลแพทย์ ต่างก็โผเข้ากอดแสดงความดีใจร่วมกัน ด้วยใบหน้าเปื้อนคราบน้ำตาแห่งความสำเร็จ พร้อมทั้งการแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวของบรรดาดาวรุ่ง เช่น วัชรพงษ์ สมจิตร, พัฒธนพงศ์ ศรีปราโมช, โชคทวี พรหมรัตน์, ตะวัน ศรีปาน, ดุสิต เฉลิมแสน, ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล, เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ฯลฯ นักเตะแกนหลักสำคัญของทีมชาติไทย ในทศวรรษต่อมา.

 

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ