Web Analytics
บทความ กัปตันทีมชาติไทย วิวัฒน์ มิลินทจินดา

บทความ เรื่อง “กัปตันทีมชาติไทย” วิวัฒน์ มิลินทจินดา

วันที่ 6 ตุลาคม 2482 ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข เพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช 2482 มาตรา 3 นามประเทศนี้ ให้เรียกว่า "ประเทศไทย" และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย อื่นใดซึ่งใช้คำว่า "สยาม" ให้ใช้คำว่า "ไทย" แทน จึงทำให้ทีมชาติชุดโอลิมปิก เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ค.ศ. 1956 จึงใช้ชื่อว่า "ทีมชาติไทย" ลงสนามแข่งขันระดับชาติ โดยมีเขารับหน้าท...ี่หัวหน้าทีมคนแรก ในนามประเทศไทย

วิวัฒน์ มิลินทจินดา เป็นชาวพระนคร เกิดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2465 เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก (พ.ศ. 2478) ในขณะนั้น มีบราเธอร์ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ฝึกสอนชั้นเชิงการเล่นฟุตบอลให้ กล่าวกันว่าเทคนิกสำคัญ คือการเตะลูกก่อนที่จะ ตกถึงพื้นหรือ "วอลเล่ย์" นั้นเอง ก่อนลงสนามลูกหนังประเภทรุ่นเล็ก เพื่อชิงโล่ของกรมพลศึกษา

ต่อมา วิวัฒน์ มิลินทจินดา ได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และลงเล่นตำแหน่งศูนย์หน้าให้กับเตรียมธรรมศาสตร์ ก่อนช่วยพาทีมชนะเลิศฟุตบอล ระหว่างโรงเรียนเตรียม ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์ฯ , ธรรมศาสตร์, นายร้อยทหารบก และนายเรือ ด้วยเอกลักษณ์การเตะบอลอันหนักหน่วง จึงได้รับฉายา "เจ้าปืนใหญ่" จากหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอ

นอกจากนี้ ในการแข่งขันลูกหนังชิงถ้วยพระราชทานประจำปีของสมาคมฟุตบอลฯ วิวัฒน์ มิลินท จินดา ลงเล่นให้กับสโมสรท่าพระจันทร์ชุดชนะเลิศถ้วยน้อย (ถ้วย ข) และสโมสรเจ้าพระยาเครือเหลืองแดงเช่นกัน แต่ภายหลังจึงย้ายไปร่วมสร้างความสำเร็จกับสโมสรชายสด ก่อนช่วยทีมกลายเป็นสโมสรที่ 11 ของวงการลูกหนังเมืองไทยที่คว้าถ้วยใหญ่ (ถ้วย ก) ประจำปี พ.ศ. 2494 พร้อมทั้งสร้าง ตำนานถ้วยใหญ่ ด้วยการขับเคี่ยวกับสโมสรทหารอากาศ เพื่อแย่งชิงถ้วยพระราชทานอีกหลายสมัยติดต่อกัน

ในระหว่าง พ.ศ. 2490 - 2498 ทัวร์นาเม้นต์ระดับชาติของทวีปเอเชีย ยังไม่มีการจัดขึ้นอย่างเป็นทางการ (เมอร์เดก้าของมาเลเซีย เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2500) ดังนั้น จึงมีแต่นัดกระชับมิตรระหว่างชาติเพื่อนบ้านใกล้เคียง นอกจากนี้แล้วจะเชิญสโมสรจากฮ่องกง ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นทีมฟุตบอลแข็งแกร่งที่สุดสมัยนั้น เพราะฮ่องกงมีลีกอาชีพแบบอังกฤษ เกิดขึ้นแล้วนั้นเอง โดยสโมสรที่เข้ามาแข่งขันบ่อยครั้ง อาทิ ทีมชิงเตา, ทีมตุงฟัง, ทีมเกาลูนบัส, ทีมเซาท์ไชน่า, ทีมเซี่ยงไฮ้ ฯลฯ จึงทำให้ นายกอง วิสุทธิ์ธารมณ์ และนายประกอบเกื้อ บุนนาค เป็นผู้ริเริ่มความคิดเอาบรรดานักเตะชื่อก้องของฟ้าเมืองไทยจากสโมสรต่าง ๆ รวมตัวฝึกซ้อม เพื่อเตรียมไว้ลับแข้งกับทีมต่างชาติเหล่านั้น โดย วิวัฒน์ มิลินทจินดา คือหนึ่งในขุนพลนักเตะ "ทีมกรุงเทพผสม" หรือกรุงเทพ 11 และตลอดระยะเวลาของการลงสนามสามารถซัลโวสกอร์ให้ทีมได้ประมาณ 15 ประตู

สำหรับประตูแห่งความทรงจำของ “เจ้าตีนระเบิด” คือแมตช์อุ่นเครื่องของทีมชาติไทยก่อนเดินทางไปแข่งขันฟุตบอลโอลิมปิก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2499 ณ สนามศุภชลาศัยฯ โดยพบกับสโมสรไวเนอร์สปอร์ตคลับ (นัดแรก ทีมไทยแพ้ทีมจากเวียนนา ซึ่งมีผู้เล่นทีมชาติออสเตรียกว่าครึ่งทีม 0 - 12) แต่ประตูแรกของ เกมนี้ กลับเกิดขึ้นจากฝีเท้าการยิงระยะไกลของกัปตันทีมชาติไทย วิวัฒน์ มิลินทจินดา ทำให้ทีมไทยออกนำ ไปก่อน ครึ่งแรก 1 - 0 ก่อนจะถูกสโมสรอาชีพของยุโรปทีมแรกที่เดินทางมากรุงเทพฯ สอนเชิงไปถึง 1 - 7

แม้การแข่งขันฟุตบอลโอลิมปิก รอบ 16 ทีมสุดท้าย ครั้งที่ 16 ณ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2499 ทีมชาติไทยจะตกรอบสอง เพราะพ่ายต่อทีมสหราชอาณาจักร 0 - 9 ที่มีนักเตะสมัครเล่นจากฟุตบอลดิวิชั่นทั้งทีมแล้ว ถือว่าเป็นเกียรติประวัติครั้งสำคัญในชีวิตนักฟุตบอลทีมชาติ นอกเหนือจากความภาคภูมิใจที่ถูกบันทึกว่าเป็น “กัปตันทีม” คนแรกในทัวร์นาเม้นต์ระดับนานาชาติของทีมชาติไทย

วิวัฒน์ มิลินทจินดา เคยกล่าวถึงแมตช์โอลิมปิกที่เมลเบิร์นอย่างน่าฟังว่า

"ในสมัยนั้น มาตรฐานของนักเตะไทย ก็ยังคงเทียบไม่ได้กับทีมจากเกาะอังกฤษ หรือแม้แต่ทีมในเอเชียบางชาติ แต่พวกเราทั้ง 13 คน มีเพียงอย่างเดียวที่เหมือนกับผู้เล่นชาติอื่น ๆ ที่ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันในโอลิมปิกครั้งนั้น ก็คือความตั้งใจ ที่ต้องการจะเล่นให้ดีที่สุด เพื่อชื่อเสียงของประเทศชาติ ทีมชาติของเราสมัยก่อนนั้นไม่มีโค้ชนักฟุตบอลจะเล่นกัน เองวางแผนกันเอง แม้แต่ชุดแข่งขันเราก็เตรียมไปเพียงชุดเดียว และปรากฏว่าไปตรงกับชุดสีขาวของทีมอังกฤษ พอเสี่ยงดวงจับสลากแพ้ จึงต้องใส่เสื้อสีฟ้าที่ทางฝ่ายคณะกรรมการเตรียมสำรองเอาไว้ เรียกว่าความเป็นมืออาชีพ ของเรายังไม่พร้อมเลย การที่เราแพ้อังกฤษถึง 0 - 9 นั้น ก็นับว่า สมเหตุสมผลแล้ว"

ภายหลังแขวนสตั๊ดแล้ว วิวัฒน์ มิลินทจินดา ยังรับหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนให้กับทีมต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ ทีมฟุตบอลประเพณีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2502 - 2508) โดยมีลูกศิษย์ที่ก้าวขึ้นติดธง เช่น อัศวิน ธงอินเนตร, ประเดิม ม่วงเกษม, อัษฎางค์ ปาณิกบุตร ฯลฯ และทีมเทศบาลกรุงเทพมหานครชุดแชมป์ เยาวชนแห่งประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2513 ที่มีผู้เล่นอนาคตไกลขณะนั้นอย่าง ประพนธ์ ตันตริยานนท์, ปรีชา กิจบุญ, เกรียงศักดิ์ นุกูลสมปรารถนา, แก้ว โตอดิเทพ ฯลฯ นอกจากสอบได้เป็นผู้ตัดสินฟีฟ่าชั้น 1 และต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลาอีก 9 ปี

วิวัฒน์ มิลินท จินดา กล่าวว่า "มีนัดหนึ่งผมต้องไปตัดสินที่สนามอองซานประเทศพม่า ในฟุตบอลรอบคัดเลือกโซนเอเชีย ทีมเจ้า ถิ่นพบกับทีมเกาหลีเหนือ เมื่อหมดเวลาปกติยังเสมอกันอยู่ 0 - 0 จนต้องต่อเวลาพิเศษออกไปอีก 30 นาที ก็ยังทำ อะไรกันไม่ได้ จึงเสมอกันไป สมัยนั้นจะไม่มีการยิงลูกที่จุดโทษตัดสินหาผู้ชนะ ผมรู้สึกประทับใจก็ตรงที่ต้องวิ่ง ตลอดทั้งเกมจนเหนื่อยเลยทีเดียว แต่พอไปเล่นที่เปียงยางผมไม่ได้เดินทางไปตัดสินด้วย เพราะรัฐบาลของเราไม่ มีสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ"

ตำนานลูกหนังเมืองไทยที่ต้องจารึก ชื่อ “วิวัฒน์ มิลินทจินดา” ในฐานะของหัวหน้าทีมชาติไทยคนแรก เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2546 หากแต่เรื่องราวของ “เจ้าปืนใหญ่” จะยังคงอยู่คู่ประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลเมืองไทยไปตลอดกาล.

จิรัฎฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ