Web Analytics
บทความ แด่ลูกหนังด้วยดวงใจ ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์

บทความ เรื่อง “แด่ลูกหนังด้วยดวงใจ” ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์

นักเตะจากปักษ์ใต้ที่ปฏิเสธตำแหน่งกัปตัน “ทีมธงไตรรงค์” ชุดประวัติศาสตร์โอลิมปิกสมัยแรก ด้วยเคารพอาวุโสรุ่นพี่ อดีตเจ้าของคอลัมน์ "แด่ลูกหนังด้วยดวงใจ" ที่เล่าถึงตำนานอันลือลั่นของขุนพลลุ่มเจ้าพระยาในหนังสือกีฬาฉบับหนึ่งเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา อันอาจกล่าวได้ว่า คือบทความอ้างอิงที่สำคัญของวงการฟุตบอลเมืองไทย

ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ เกิดที่จั...งหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2476 เริ่มเรียนหนังสือระดับประถม ณ โรงเรียนผดุงดรุณี ก่อนจบมัธยมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2502

ในขณะมีอายุ 12 ปี ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ ลงเล่นฟุตบอลชิงถ้วยของกรมพลศึกษา ณ สนามต้นโพธ์ ให้กับทีมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และสร้างชื่อจากลูกหนังประเพณี ระหว่าง B.C.C - A.C. (อัสสัมชัญ) ตั้งแต่ปีแรก เพื่อนร่วมทีมม่วงทองยุคนั้น คือ วันชัย สุวารี, ประทีป เจิมอุทัย และนิตย์ ศรียาภัย ภายหลังทั้ง 4 คน ติดทีมชาติไทยชุดเมลเบิร์น

ก่อน ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ จะร่วมทีมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชุดชนะเลิศลูกหนังระหว่างมหาวิทยาลัยถึง ๕ ปีซ้อน จนได้รับเสื้อสามารถสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ฯ และของสถาบัน “เหลืองแดง” นอกจากได้รับเลือกเป็นประธานชมรมลูกหนังแม่โดม โดยสร้างผลงานอันเป็นเกียรติประวัติ คือการลงสนามฟุตบอลประเพณีจุฬา ฯ - ธรรมศาสตร์ รวม 9 สมัย ชนะ 6 ครั้ง และเสมอ 3 ครั้ง
ในช่วงปี พ.ศ. 2491

ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ ลงเล่นฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานให้สโมสรมุสลิมชุดชนะเลิศถ้วยน้อย (พ.ศ. 2494) และครองถ้วยคาสเบิร์ก สองสมัยติดต่อกัน (พ.ศ. 2495, 2496) ซึ่งเป็นทัวร์นาเม้นท์ที่นำสโมสรชั้นนำของฟ้าเมืองไทย เข้าร่วมชิงชัยกว่า ๑๐ ทีม ก่อนถูกคัดเลือกให้ติดทีมกรุงเทพผสม หรือ “กรุงเทพ 11” เพื่อลงแข่งขันกับสโมสรจากเกาะฮ่องกง อาทิ ซิงเตา, เซียงไฮ้, เซาไชน่า ฯลฯ

ต่อมา พ.ต. ประเทียบ เทศวิศาล เพื่อนนักเตะร่วมรั้วธรรมศาสตร์จึงได้ติดต่อให้ ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ เข้าร่วมทีมกองพล ป.ต.อ.ชุดชนะเลิศกีฬาภายในกองทัพบก (พ.ศ. 2496) จนกลายเป็น “เซนเตอร์ฮาล์ฟ” กองกลางคนสำคัญที่ช่วยให้ ทีมทหารบกไทย ชนะ ทีมทหารบกพม่า เป็นครั้งแรก ทำให้ “จอมพลผ้าขะม้าแดง” พล.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกสมัยนั้น ถึงกับมอบเสื้อสามารถชั้น ๑ สีขาว ให้แก่ยอดตำนานนักเตะจากแดนใต้ จนเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่ววงการฟุตบอลไทย

ฟุตบอลปรี-โอลิมปิก พ.ศ. 2497 - 2498 เพื่อคัดเลือกทีมตัวแทนทวีปเอเชีย ไปแข่งขันรอบสุดท้ายที่เมืองเมลเบิร์น (ค.ศ. 1956) ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ กล่าวว่า

"รอบคัดเลือกนัดแรกที่สนามศุภ ทีมไทยเสมอกับทีมไต้หวัน ที่เอานักเตะอาชีพของฮ่องกงมาเล่น 4 - 4 พอถึงนัดที่สอง ทีมฮ่องกงต้องลงแข่งขันรอบคัดเลือกเช่นกัน จึงไม่ยอมปล่อยผู้เล่นมาให้อีก ทีมไทยจึงชนะผ่านไต้หวัน และต้องไปแข่งขันกับทีมพม่าที่ย่างกุ้ง แต่เนวินทำการปฏิวัติในประเทศพม่า ทีมไทยก็ได้ผ่านอีก คราวนี้ต้องไปเล่นข้ามโซนกับทีมอียิปต์ ก็พอดีเกิดสงครามคลองสุเอซ ทำให้อียิปต์ขอถอนทีม ทีมไทยเลยได้ไปฟุตบอลโอลิมปิกเป็นครั้งแรก แต่ปรากฏว่า ทางคณะกรรมการโอลิมปิกของไทยไม่คิดว่าทีมฟุตบอลจะได้สิทธิ์ไปเมลเบิร์น เนื่องจากขณะนั้นมีงบประมาณจำกัด จึงขอให้สมาคมฟุตบอลตัดตัวผู้เล่นออก 5 คน จนเหลือเพียงแค่ 13 คน"

ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ ยังกล่าวกับผู้เขียนถึงสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ ทีมไทย แพ้ ทีมสหราชอาณาจักร (เวลส์, สก๊อตแลนด์, ไอร์แลนเหนือ และอังกฤษ) ด้วยสกอร์ถึง 0 - 9 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2499 อันกลายเป็นสถิติเกมระดับชาติที่แพ้มากสุดของทีมไทย ว่า

"ในตอนนั้น ผมมีอายุ 23 ปี เมื่อลงซ้อมที่เมลเบิร์น มีผู้เล่นบาดเจ็บเพิ่มอีกสอง คน จนต้องเอาคนที่เจ็บน้อยที่สุดลงสนาม ประทีป เจิมอุทัย จึงลงไปยืนเพื่อให้ครบ 11 คน พอเล่นได้ 30 กว่านาที โสภณ หะยาจันทรา ถูกชนถึงสลบต้องหามออกจากสนาม และสุกิจ จิตรานุเคราะห์ มีอาการเจ็บวิ่งไม่ออกเพราะอากาศหนาวเย็นมาก ทีมไทยจึงเหลือผู้เล่นในสนามแค่ 8 คน ถ้าผู้รักษาประตูของทีมเราไม่ใช่ เกษม ใบคำ ทีมไทยคงจะเสียประตูมากกว่านี้"

ก่อนที่ ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ จะกลับมาสร้างตำนานคู่ชิงชนะเลิศถ้วยพระราชทานถ้วยใหญ่ ระหว่าง สโมสรมุสลิม กับ สโมสรทหารอากาศ แต่ขณะนั้น เขาช่วยทีมได้ดีที่สุดเพียงแค่ตำแหน่งรองชนะเลิศทั้งสามสมัย (พ.ศ. 2500 - 2502) เท่านั้น แต่กลับกลายเป็นความทรงจำที่ยิ่งใหญ่ของอดีตนักฟุตบอลโอลิมปิก อนึ่ง “ทีมลูกทัพฟ้า” สามารถสร้างประวัติศาสตร์ครองถ้วยใหญ่ (ถ้วย ก) รายการสูงสุดของเมืองไทย ได้ถึง 7 ปีติดต่อกัน (พ.ศ. 2500 - 2506)

ในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2502 ที่กรุงเทพ ฯ รอบชิงชนะเลิศ ทีมไทย แพ้ ทีมเวียดนามใต้ 1 - 3 แมตช์ดังกล่าว ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ แสดงฝีเท้าประทับใจแฟนลูกหนังทั้งสนาม รวมไปถึง นายบุญชู โรจนเสถียร จึงได้ติดต่อให้มาช่วยฝึกสอนพนักงานของแบ็งค์และลงเล่นฟุตบอลระหว่างธนาคาร ในนามของ "ทีมรวมธนาคาร"

จนกระทั่ง พ.ศ. 2505 จึงมีการก่อตั้ง "สโมสรธนาคารกรุงเทพ" โดยปีแรก ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ ก็เป็นแม่ทัพนำทีมชนะเลิศถ้วยน้อย ก่อนร่วมบุกเบิกสร้างความสำเร็จ คว้าถ้วยพระราชทานถ้วยใหญ่ มาครองอีก 4 สมัย (พ.ศ. 2506, 2507, 2509, 2510)

สำหรับทำเนียบทีมชาติไทย ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ ติดธงไตรรงค์ทุกรายการของยุคนั้น เช่น ฟุตบอลฉลองเอกราชเวียดนามใต้, เอเชี่ยนเกมส์ (อินโดนีเซีย), เมอร์เดก้า (มาเลเซีย) ฯลฯ ก่อนจะประกาศแขวนสตั๊ดระดับชาติ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2511

ภายหลัง ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ ได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นผู้ฝึกสอนและผู้เล่นช่วยให้ "ทีมตราบัวหลวง" ชนะเลิศถ้วย ข ประจำปี พ.ศ. 2511 ในขณะที่ถ้วย ก มีชาวเยอรมัน มร.กุนเธอร์ กลอมป์ โค้ชทีมชาติไทยชุดโอลิมปิกเม็กซิโก ค.ค. 1968 ทำทีมประสบความล้มเหลว ทั้งที่มีนักเตะอยู่ในชุดโอลิมปิกกว่าครึ่งสโมสร จึงถูกผู้บริหารสโมสรปลดออก พร้อมแต่งตั้งผู้ฝึกสอนถ้วย ข อย่างเขาขึ้นมาทำหน้าที่แทน

โดยทัวร์นาเม้นท์แรก ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ ก็สามารถนำลูกทีมคว้าถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ มาครองได้สำเร็จเป็นทีมแรก พร้อมกับสิ้นสุดยุคขุนพลย่านบางนา อาทิ อนุสิทธิ์ สุวรรณเนตร, วิชิต แย้มบุญเรือง, เกรียงศักดิ์ นุกูลสมปรารถนา, ยรรยง ณ หนองคาย ฯลฯ รวมถึงตัวเขาเอง

นอกจากนี้แล้ว สโมสรธนาคารกรุงเทพ ที่มี ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ เป็นโค้ชได้สำแดงเพลงแข้ง จนหนังสือพิมพ์ของสิงคโปร์ลงเป็นข่าวใหญ่ ใน พ.ศ. 2519 เมื่อสามารถเอาชนะทีมชาติสิงคโปร์ ชุดเตรียมกีฬาแหลมทอง (ซีเกมส์) ถึงถิ่น (2 - 1) และชนะทีมชาติเขมร (3 - 1, 2 -0) ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากการตำแหน่งผู้ฝึกสอน

หลังจากนั้นอีกกว่าทศวรรษปี ด้วยหัวใจที่ยังสวมสตั๊ดและกลิ่นสาปลูกหนังที่ติดตัวมาตลอดชีวิตกว่า 60 ปี ทำให้ ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ ต้องกลับคืนสู่สถาบัน “ม่วงทอง” ที่เคยสร้างชื่อบนสนามหญ้าเขียวขจี เพื่อสร้างฝั่งฝันให้กับนักฟุตบอลรุ่นลูกสู่รุ่นหลาน แม้ว่าปัจจุตำนานบทนี้ ยังคงมีลมหายใจ ที่คงได้แต่ซึบซับความทรงจำอันรุ่งโรจน์ หากแต่น้อยคนนักจะทำได้แบบนักเลงฟุตบอลที่ชื่อ “ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์” สุภาพบุรุษนักเตะคนแรกที่นำความภาคภูมิใจมาสู่คนปักษ์ใต้ และทีมชาติไทย.

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ