Web Analytics
ศตวรรษฟุตบอลไทย

บทความ เรื่อง 111 ปี ฟุตบอลไทย

 

"สยามอารยะกีฬาสากล"

ในวาระครบรอบ 111 ปี ที่กีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งของสากล “ฟุตบอล” ได้เข้ามาเผยแพร่และเป็นที่นิยมเล่นกันของชาวสยาม เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2443 ดังนั้น จึงขอย้อนอดีตกาลของ “หมากเตะ” จนถึงปัจจุบันสมัย เพื่อร่วมภาคภูมิใจกับประวัติศาสตร์ชาติแรกแห่งทวีปเอเชียที่เป็นสมาชิก FIFA ลำดับที่ 37 ของโลก ดังต่อไปนี้

 

ฟุตบอล (SOCCER) สมัยใหม่ วงการลูกหนังทั่วโลกถือว่ามีวิวัฒนาการรูปแบบการเล่นมาจากประเทศอังกฤษ เนื่องจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (CAMBRIDGE UNIVERSITY) คือสถาบันแห่งแรก ที่กำหนดกฎข้อบังคับ เรียกว่า "กติกาเคมบริดจ์" และจัดแข่งขันฟุตบอลตามกติกาดังกล่าว ใน ค.ศ. 1846 (พ.ศ. 2389) ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย (QUEEN VICTORIA ค.ศ. 1837 - 1901)

 

ความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศสยาม กับ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (UNITED KINGDOM OF GREAT BRITAIN AND NORTHERNIRELA-ND) เกิดขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394 - 2411) ทรงแต่งตั้งพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นราชทูตนำคณะฯ รวม 27 คน เดินทางไปถวายพระราชสาส์นเพื่อเจริญพระราช ไมตรี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2400 โดยปรากฎบันทึกว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระอนุชา ในรัชกาลที่ 4) ทรงชอบเล่นกีฬาที่ชาวตะวันตกนำเข้ามาเผยแพร่ อาทิ การล่าสัตว์ แข่งเรือ ขี่ม้าและตีคลี หากแต่ยังไม่มีการกล่าวถึง “ฟุตบอล”

 

รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 - 2453) ทรงเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2440 เพื่อนำความเจริญอย่างอารยประเทศ (MODERNISATION POLICY) กลับมาพัฒนาบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของราษฎรชาวสยาม โดยก่อนนั้นมีการส่งพระบรมวงศานุวงศ์และนักเรียนทุนหลวงไปศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศรัสเซีย เยอรมัน และอังกฤษ ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2428 และชาวยุโรปก็ได้เดินทางเข้ามารับราชการและทำการค้าในเมือง บางกอก จึงก่อตั้ง "สโมสรรอยัลบางกอกสปอร์ตคลับ" (ROYAL BANGKOK SPORT CLUB) สระปทุมวัน โดยมุ่งเน้นกิจกรรมกีฬาเป็นสื่อสมานฉันท์ระหว่างชาวต่างชาติกับคนไทย คือยุคแห่งการเริ่มต้น "กีฬาสากล" ของเมืองสยาม

 

ในขณะที่แหล่งข้อมูลและหนังสือหลายเล่ม ต่างระบุว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศไทย คือผู้นำการเล่นฟุตบอลเข้ามาสู่สยาม เนื่องจากจบจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ (ROYAL NORMAL SCHOOL) ก่อนสอบได้ทุนหลวง ไปศึกษาต่อ ณ โรงเรียนฝึกหัดครูเบอโรโรด (BOROUGHROAD COLLEG EISLEWRETH) ณ เมืองไวส์ลเวิฟ ประเทศอังกฤษ (พ.ศ. 2438 - 2440) ต่อมา จึงเข้ารับราชการกระทรวงธรรมการ (พ.ศ. 2441 - 2469) และเป็นผู้ปฏิรูปการเรียนการสอนครั้งใหญ่ของเมืองไทย

 

ยุคเริ่มต้นนั้น ผู้ที่นิยมชอบเตะฟุตบอลจะถูกขนานนามว่า "นักเลงลูกหนัง" โดยเรียกการเล่น ชนิดนี้ว่า "หมากเตะ" สนามที่ใช้แข่งขัน คือพื้นที่ว่างบริเวณลานวัด และสนามหญ้าหน้าโรงเรียน ส่วน ใหญ่จะใช้ลูกยาง ลูกเทนนิสและผลส้มโอ ที่ต้องคลึงให้พอน่วมแล้ว จึงนำเอามาเตะแทนลูกบอล

 

วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2443 ณ ท้องสนามหลวง กระทรวงธรรมการจัดการแข่งขันกรีฑา นักเรียน ท่ามกลางผู้ชมทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่กำลังมุ่งให้ความสนใจการแข่งขันกีฬาประเภทหนึ่งระหว่าง ทีมบางกอก กับ ทีมศึกษาธิการ โดยผู้เล่นฝ่ายแรกเป็นคนอังกฤษทั้งหมด ส่วนฝ่ายหลังมีทั้งชาวสยามและพวกยุโรป ผลเสมอกัน 2 - 2 (0 - 1)

 

หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ (THE BANGKOK TIMES) เรียกการเล่นนั้นว่า "ASSOCIATION FOOTBALL" หรือ "การแข่งขันฟุตบอลตามข้อบังคับ ของแอสโซซิเอชั่น" อย่างเป็นทางการครั้งแรกในแผ่นดินสยาม พร้อมลงบทความยกย่องประโยคหนึ่ง ว่า "กีฬาฟุตบอล คือศิลปะชิ้นล่าสุดที่ควรค่าแก่การยกย่องในทุกด้าน"

 

เพื่อสร้างความเข้าใจแก่นักเรียน เกี่ยวกับกติกาเบื้องต้นในการเล่นฟุตบอล หลวงไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) จึงทำการแปลกติกาการแข่งขันฟุตบอล ฉบับภาษาอังกฤษมา เป็นภาษาไทย ในหนังสือวิทยาจารย์ เล่มที่ 1 ตอนที่ 7 เดือนพฤษภาคม 2444 จนกระทั่ง นักเรียนตามโรงเรียนหลายแห่งเริ่มให้ความสนใจเล่นกันอย่างกว้างขวาง กล่าวกันว่าแม้จะเป็นช่วงเวลาพักเที่ยง แต่กลางสนามหญ้าหน้าโรงเรียนท่ามกลางแสงแดดนั้น เด็กนักเรียนก็ยังวิ่งเตะฟุตบอลแบบไม่ย่อท้อ แม้ว่าในระยะแรกจะมีเสียงคัดค้านจากผู้ปกครองที่ไม่สนับสนุนให้บุตรหลานของตน ให้เล่นกีฬาชนิดนี้ เนื่องจากเห็นว่ามีการเข้าปะทะที่รุนแรง จนทำให้ผู้เล่นเกิดอาการบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้ง

 

แต่แล้วในที่สุด กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ จึงจัดการแข่งขันฟุตบอลนักเรียน ประเภทอายุไม่เกิน 20 ปีขึ้นสำเร็จ เมื่อ พ.ศ. 2444 เป็นปีแรก ซึ่งใช้กติกาแบบน็อกเอาต์ (KNOCKOUT OR ELIMINATIONS) หรือแพ้ตกรอบ ผู้เล่นจะต้องยึดคติธรรม 4 ประการ คือ ใจนักเลง, สามัคคี, อาจหาญและขันติ ทีมชนะเลิศจะได้ครองโล่เงิน เป็นเวลา 1 ปี อีกทั้งจะถูกจารึกชื่อไว้บนโล่

 

โดยมีทีมส่งเข้าร่วม จำนวน 9 โรงเรียน คือ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ (มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร), โรงเรียนราชวิทยาลัย, โรงเรียนสวนกุหลาบ (อังกฤษ), โรงเรียนสวนกุหลาบ (ไทย), โรงเรียนราชการ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), โรงเรียนแผนที่, โรงเรียนวัดมหรรณ์, โรงเรียนกล่อมพิทยาการ และโรงเรียนสายสวลีสัณฐานคาร ภายหลัง ใช้เวลาแข่งขันประมาณ 1 เดือน จึงได้ทีมชนะเลิศ คือโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ภายหลังจึงเพิ่มการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนขึ้น อีกหลายรุ่นโดยใช้เกณฑ์อายุและความสูงเป็นมาตรฐาน คือรุ่นเล็ก รุ่นกลางและรุ่นใหญ่

 

“ยุคทองของฟุตบอลเมืองสยาม”

ลุล่วงถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2453 - 2468) ทรงให้การสนับสนุนและส่งเสริม “กีฬาฟุตบอล” ทั้งในทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ การเสด็จทอดพระเนตรฟุตบอลหน้าพระที่นั่งอยู่เนืองนิตย์แล้ว พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ติดต่อ มร. เอ.พี. โคลบี้ และมร. อาร์.ดี. เคร็ก อดีตนักเตะชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาช่วยสอนทักษะการเล่นลูกหนังสมัยใหม่ แก่นักเลงฟุตบอลชาวสยาม

 

นอกจากนี้ มร. อี.เอส. สมิธ (MR. E.S. SMITH) อดีตผู้เล่นระดับอาชีพ (พ.ศ. 2450 - 2452) ได้ลงทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินนัดสำคัญอีกด้วย เนื่องจากคนไทยยังไม่มีความชำนาญเรื่องกฎกติกาการแข่งขันเท่าที่ควร จึงทำให้บริษัท ห้างร้าน และหน่วยงานราชการต่าง ๆ จะต้องมีทีมอย่างน้อย 1 ชุด อีกทั้งราษฎรทั่วพระนครและปริมณฑล เกิดความนิยมเล่นเพิ่มมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าพระองค์ คือ "องค์พระบิดาแห่งวงการฟุตบอลเมืองสยาม”

 

อนึ่ง “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ในขณะยังดำรงอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมงกุฎราชกุมาร (CROWN PRINCE) ทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ (พ.ศ. 2435 - 2444) ถือเป็นพระมหากษัตริย์ไทย พระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ โดยเรียนวิชาการทหาร ที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก แซนด์เฮิสต์ (SANDHURST) และวิชาประวัติศาสตร์และกฎหมาย ณ วิทยาลัย ไครสเชิร์ช (CHRIST CHURCH COLLEGE) แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (OXFORD UNIVERSITY) กล่าวกันว่าเมื่อทรงว่างจากภารกิจประจำวัน จะโปรดการเล่นกีฬา อาทิ ขี่ม้า เทนนิส และฟุตบอล

 

ต่อมา ในวันที่ 11 กันยายน - 27 ตุลาคม 2458 รัชกาลที่ 6 ทรงรับเป็นสภานายกคณะกรรมการฟุตบอลถ้วยทองของหลวง เพื่อจัดแข่งขันระดับสโมสร แบบทัวร์นาเม้นต์ (TOUR NAMENT) ครั้งแรกของสยาม โดยทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยทองเป็นรางวัลสำหรับทีมชนะเลิศ จึงเรียกว่า "การแข่งขันฟุตบอลสำหรับพระราชทานถ้วยทองของหลวง" หากแต่ราษฏรนิยมเรียกว่า “ฟุตบอลถ้วยทองของหลวง” ณ สนามสโมสรเสือป่า หรือสนามม้าสวนดุสิต ถนนหน้าพระลาน มีสโมสรเข้าร่วมการแข่งขันแบบพบกันหมด จำนวน 12 ทีม

 

ในการนี้ คณะกรรมการฯ ออกประกาศเปลี่ยนเรียกคำว่า "โกล์" มาเป็น "ประตู" แทน และจัดพิมพ์หนังสือระเบียบการแข่งขันทั้งแบบภาษาไทยและอังกฤษ ซึ่งผู้เข้าชมจะต้องเสียเงินค่าผ่านประตู คือชั้นหนึ่ง นั่งเก้าอี้ ราคา 1 บาท, ชั้นสอง นั่งอัฒจันทร์ ราคา 50 สตางค์ และชั้นสาม เส้นข้างสนาม ถึงเส้นประตู ราคา 10 สตางค์

 

นอกจากนี้ นักฟุตบอลทีมชนะเลิศ คือ “สโมสรนักเรียนนายเรือ” ยังได้รับพระราชทานแหนบสายนาฬิกาลงยามีตราพระมหามงกุฎ เป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูล ส่วนรายได้ค่าผ่านประตูรวมทั้งสิ้น จำนวน 6,049.95 บาท นั้น คณะกรรมการฯ มอบให้ราชนาวีสมาคม และสภากาชาดสยาม ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง

 

เมื่อการแข่งขันฟุตบอลถ้วยทองของหลวงเสร็จสิ้นลง พร้อมกับความสำเร็จด้านความนิยมของคนสยามแล้ว รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระราชดำริจัดตั้ง "กรรมการคณะฟุตบอลแห่งสยาม" เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2458 เพื่อคัดเลือกผู้เล่นรายการชิงโล่ของกระทรวงธรรมการ และถ้วยทองของหลวง เป็นผู้แทน ของชาติ ในนาม "คณะฟุตบอลสำหรับชาติสยาม" ก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติ ณ สนามราชกรีฑาสโมสร สระปทุมวัน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2458 ทีมสปอร์ตคลับ กับ ทีมชาติสยาม (1 – 2) การลงสนามแข่งขันนัดแรกของทีมชาติไทย

 

ศกถัดมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา ก่อตั้ง "คณะฟุตบอลแห่งสยาม” (สมาคมฟุตบอลแห่ง ประเทศสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์) เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2459 สภากรรมการฯ ชุดแรก ประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวม 7 ท่าน อันมี พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) เป็นสภานายก และพระราชดรุณรักษ์ (เสริญ ปันยารชุน) เป็นเลขาธิการ

 

ในปลายปี 2459 จึงเริ่ม จัดการแข่งขันฟุตบอลถ้วยใหญ่และถ้วยน้อย ขึ้นเป็นครั้งแรก ทีมชนะเลิศถ้วยใหญ่ คือ “สโมสรกรมมหรสพ” และทีมชนะเลิศถ้วยน้อย คือ “สโมสรทหารบกราชวัลลภ”

 

ในระหว่างนั้น ได้เกิดสงครามโลก ครั้งที่ 1 "ธงไตรรงค์" โบกสะบัดแสดงความเป็นสยามประเทศ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังรัชกาลที่ 6 จึงทรงประกาศให้ “ธงไตรรงค์” เป็นธงชาติของสยาม เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2460 ก่อนจะกลายมาเป็นสัญญลักษณ์ติดหน้าอกเสื้อของนักฟุตบอลทีมชาติไทย (ระหว่าง พ.ศ. 2499 – 2545) มาตราบเท่าปัจจุบัน

 

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2468 พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ ณ อยุธยา) สภานายกคณะฟุตบอลแห่งสยาม คนที่ 4 จึงสมัครเป็นสมาชิกสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FEDERATION INTERNAIONAL OF FOOTBALL ASSOCIATION) หรือฟีฟ่า (FIFA) องค์กรควบคุมการบริหารงานการแข่งขันระดับชาติทั่วโลก นับเป็นชาติแรกของทวีปเอเชียและลำดับที่ 37 ของโลก

 

อีก 5 เดือนต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 ท่ามกลางความเศร้าสลดของอาณาประชาราษฎร์ โดยเฉพาะกับวงการนักเลงฟุตบอล แม้จะเป็นการสิ้นสุด “ยุคทองของฟุตบอลเมืองสยาม” ไปพร้อมกับพระองค์แล้ว หากแต่พระราชประสงค์ของ “องค์พระบิดาแห่งฟุตบอลเมืองสยาม” ยังคงได้รับการสืบทอดต่อมา ดังความตอนหนึ่งจากบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง “ความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย” ของนิสิตออกฟอร์ด (พ.ศ. 2458) ว่า

 

“…ข้าพเจ้าหวังใจและเชื่อว่าฟุตบอลนี้ได้ทำประโยชน์ให้กับคนไทย ผู้ร่วมชาติของข้าพเจ้า รุ่นใหม่นี้เพียงใด และด้วยเหตุนั้น คงจะช่วยกันปรารถนาให้การเล่นชนิดนี้ ซึ่งชาวอังกฤษผู้มีนิสัยรักใคร่การกรีฑาได้ทำให้ปรากฏซึ่งคุณประโยชน์แล้วนั้น ยืนยงดำรงอยู่ชั่วกาลนาน…”

 

“ยุครุ่งเรืองของฟุตบอลเมืองไทย”

รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468 - 2477) คณะราษฎร์ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (24 มิถุนายน 2475) จึงทำให้คณะฟุตบอลแห่งสยาม ต้องดำเนินกิจกรรมด้วยความยากลำบาก และถึงขั้นต้องหยุดจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ลงชั่วคราวระยะหนึ่ง ด้วยเหตุผลทางด้าน “การเมือง”

 

เมื่อมาถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 (พ.ศ. 2477 - 2489) ในวันที่ 4 ธันวาคม 2477 ณ สนามหลวง มีการแข่งขันฟุตบอลเพื่อการกุศลและความสามัคคีระหว่าง นักศึกษาย่านท่าพระจันทร์กับสามย่าน ผลเสมอกัน 1 - 1 โดยนับเป็นการแข่งขันฟุตบอลประเพณีที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองไทย ระหว่าง จุฬามหาวิทยาลัย - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน

 

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2480 กรมพลศึกษาดำเนินงานก่อสร้าง "สนามกรีฑาสถาน" โดยใช้ งบประมาณ 170,000 บาท รวมเวลากว่า 4 ปี จึงสามารถสร้างอัฒจันทร์ครบทั้ง 4 ด้าน และมีความจุ ผู้ชม 40,000 คน ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2485 จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถาน แห่งชาติ" เพื่อเป็นเกียรติแก่ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก ผู้ริเริ่มมอบเสื้อสามารถนักฟุตบอลนักเรียนยอดเยี่ยม เมื่อ พ.ศ. 2481 และจัดการแข่งขันฟุตบอลประชาชนระหว่างอำเภอ และจังหวัด ขึ้นใน พ.ศ. 2482

 

ต่อมา สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จึงได้เข้ามาขอเช่าสนามศุภฯ จากกรมพลศึกษา เพื่อจัดแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประจำปี พ.ศ. 2488 เป็นสมัยแรก และทำให้สนามศุภชลาศัยฯ แห่งนี้ คือ “สนามเหย้า” ของทีมชาติไทยมานานกว่า 50 ปี

 

เมื่อกาลเวลาลุล่วงมาถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ. 2489 - ปัจจุบัน) สมาคมฟุตบอลฯ จึงแก้ไขข้อบังคับลักษณะปกครองฯ ครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2499) ให้เหมาะสมกับสมัยนิยมและเปลี่ยนชื่อของสมาคมฯ เป็น "สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ใน พระบรมราชูปถัมภ์" (THE FOOTBALL ASSOCIATION OF THAILAND UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF HIS MAJESTIC THE KING) หรืออักษรย่อ F.A.T.

 

ทีมชาติไทยได้สิทธิ์ลงเล่นรอบ 16 ทีมสุดท้าย ในการแข่งขันฟุตบอลกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 16 (ค.ศ. 1956) ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน - 8 ธันวาคม 2499 โดยรอบสองแข่งขันแบบ F.A. CUP ทีมชาติไทย แพ้ สหราชอาณาจักร 0 - 9 อันเป็นสถิติแพ้มากที่สุดของทีมชาติไทย

 

ต่อมา พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงพระราชทานทุนส่วนพระองค์ ในการส่งเสริมและพัฒนาการเล่นกีฬาฟุตบอลของประเทศ ทำให้ นายสำรวย ไชยยงค์ (พลตรี สำเริง ไชยยงค์) อดีตนักเตะทีมชาติไทยชุดโอลิมปิก (ค.ศ. 1968) ได้เดินทางไปศึกษาเกี่ยวกับ การเตรียมทีมและการเล่นฟุตบอล ณ เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมัน ก่อนกลังมาสร้างเยาวชนให้ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบทีมชาติไทยไม่น้อยกว่า 100 คน เมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ สมัครเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (ASIAN FOOTBALL CONFEDERATION) หรือ A.F.C. ใน พ.ศ. 2500 องค์กรบริหารและรับผิดชอบการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติในทวีปเอเชีย

 

ในระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม - 22 มิถุนายน 2508 สมาคมฯ จึง ได้ส่งเจ้าหน้าที่และนักฟุตบอลทีมชาติไทย จำนวน 20 คน เดินทางไปฝึกอบรมและลงแข่งขันหา ประสบการณ์ ณ ประเทศเยอรมัน นอรเวย์ เดนมาร์ค และอิสราเอล

 

กีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 3 ณ ประเทศมาเลเซีย รอบชิงชนะเลิศ ณ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 21 ธันวาคม 2508 ทีมชาติไทยครองเหรียญทองร่วมกับทีมชาติพม่า (2 - 2) แชมป์ระดับชาติ (ชุดใหญ่) รายการแรกของทีมไทย ในรอบ 49 ปี ของการก่อตั้งสมาคมฟุตบอลฯ อันมีผลสืบเนื่องจากการบริหารงานของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค นายกสมาคม, มรว.แหลมฉาน หัสดินธร เลขาธิการ, พล.อ.ประเทียบ เทศวิศาล ผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย และพล.ต.สำเริง ไชยยงค์ สภากรรมการ ที่ถือเป็น “ปูชนียบุคคลของวงการฟุตบอลเมืองไทย”

 

ทีมชาติไทยประสพความสำเร็จอีกครั้ง ในรอบ 12 ปี เมื่อสามารถผ่านรอบคัดเลือก ปรี- โอลิมปิก เป็นตัวแทนของทวีปเอเชียในกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 19 (ค.ศ. 1968) ณ ประเทศเม็กซิโก ระหว่างวันที่ 12 - 27 ตุลาคม 2511 แม้ว่าทีมไทยจะตกรอบแรก แต่ก็นำมาซึ่งความภูมิใจของชาวไทยทั้งชาติ ที่ได้เห็นธงไตรรงค์ได้โบกสะบัดบนสนามฟุตบอลระดับโลก

 

เมื่อสโมสรฟุตบอลในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ใน พ.ศ. 2505 สมาคม ฟุตบอลฯ จึงต้องจัดการแข่งขันให้เป็นแบบดิวิชั่น (DIVISION) ของประเทศอังกฤษ โดยแบ่งระดับ มาตรฐานของทีมที่เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานประจำปี ออกเป็น 4 ถ้วย คือเพิ่มถ้วย ค และถ้วย ง ขึ้นมา ดังนั้น ถ้วยใหญ่และถ้วยน้อย จึงถูกเรียกว่าถ้วย ก และถ้วย ข ตั้งแต่นั้นมา

 

กีฬา "ฟุตบอล" ในเมืองไทยผ่านมาครบรอบ 111 ปี นับจากวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2443 นักเตะทีมชาติไทยเคยสร้างชื่อเสียงและเกียรติประวัติ ให้แก่ประเทศชาติ ด้วยการลงเล่นรอบสุดท้าย ฟุตบอลกีฬาโอลิมปิก รวม 2 ครั้ง (ค.ศ. 1956, 1968) และครองความชนะเลิศระดับชาติ รวม 30 รายการ อีกทั้งมี “ALL STAR” หรือ “ดาราเอเชีย” ถึง 6 คน คือ อัศวิน ธงอินเนตร (พ.ศ. 2508), ณรงค์ สังขสุวรรณ์ (พ.ศ. 2515), ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน (พ.ศ. 2524), เฉลิมวุฒิ สง่าพล (พ.ศ. 2528), พิชัย คงศรี (พ.ศ. 2528) และดุสิต เฉลิมแสน (พ.ศ. 2535)

 

ณ สหัสวรรษนี้ รายการสำคัญลำดับแรก คือ "ฟุตบอลโลก" รอบสุดท้าย ในปัจจุบันมีทีมลูกหนังแค่ 65 ชาติ จาก 187 ประเทศที่เป็นสมาชิก FIFA เคยก้าวสัมผัสทัวร์นาเม้นต์ แห่งศักดิ์ศรีนี้มาแล้ว "WORLD CUP" นอกจากจะแสดงถึงพัฒนาการเล่นของนักฟุตบอลเองแล้ว ยังจะบ่งบอกให้เห็นถึงประสิทธิภาพการบริหารงานของบุคลากรในสมาคมฟุตบอลของแต่ละชาติทั่วโลก เป็นสำคัญ.

 

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ