บทความ เรื่อง "ตราพระมหามงกุฎ"
ในตำนานแห่งประวัติศาสตร์ของวงการลูกหนังโลก คงมีเพียงไม่กี่ทีมเท่านั้น ที่ได้รับเกียรติยศสูงสุดจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้นำตราประจำราชวงศ์มาติดเสื้อนักฟุตบอลทีมชาติ ซึ่งองค์พระประมุขของประเทศทรงถือว่า นักฟุตบอลเป็นผู้แทนของชาติ อันเปรียบเสมือนนักรบยามออกศึกสงครามเพื่อแผ่นดิน และหนึ่งในสองนั้น คือทีมชาติไทย
ทีมฟุตบอลชาติแรก ที่ได้รับเกียรติยศนำตราประจำพระองค์ของกษัตริย์ ใช้เป็นสัญญลักษณ์บนหน้าอกเสื้อเหล่าขุนพลนักเตะผู้แทนของประเทศ คือ “ทีมชาติอังกฤษ” เมื่อ สมเด็จพระราชินี ควีนส์ วิคตอเรีย (QUEEN VICTORIA) แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ได้ทรงมีพระบรมราชโองการอนุญาตให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศอังกฤษ หรือ FA. (ก่อตั้ง ค.ศ. 1863) นำ “ตราสิงโตสามตัว” มาติดที่ชุดแข่งขันผู้เล่นแดนผู้ดี ใน ค.ศ. 1872 (ตรงกับ พ.ศ. 2415) เพื่อลงสนามฟุตบอลระดับชาติครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการลูกหนังโลก ระหว่าง ทีมชาติอังกฤษ กับ ทีมชาติสกอตแลนด์ จึงเป็นที่มาฉายา “สิงโตคำราม” จึงทำให้ FA. ของอังกฤษไม่เคยคิดหรือทำการเปลี่ยนแปลงตราดังกล่าว จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 135 ปี
อนึ่ง สิงโตสามตัว หรือ “GULES THREE LIONS PASSANT GUARDANT” ถือเป็นตราประจำแผ่นดินของประเทศอังกฤษ โดย พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ได้นำสิงโตตัวเดียวมาเป็นตราประจำพระองค์ ก่อนเป็นสมัยแรก ต่อมา พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 จึงเพิ่มสิงโตเป็นสามตัวดังกล่าวเช่นปัจจุบัน อันหมายถึงแผ่นดินอังกฤษ, นอร์มังดี และอากีแทน จนถึงสมัย พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 3 ได้ให้แบ่งตราออกเป็นสี่ส่วน และหนึ่งในสองส่วน คือ “สิงโตสามตัว” (อีกสองส่วนเป็นสัญญลักษณ์ฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ)
ภายหลังแห่งปฐมบท “ตราสิงโตคำราม” ของทีมชาติอังกฤษ อีก 43 ปีต่อมา “ทีมชาติไทย” หนึ่งในสองชาติที่มีตำนานสัญญลักษณ์ทรงเกียรติยศ จึงได้รับตราพระราชทานจากสถาบันพระมหากษัตริย์
เมื่อรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี สมัยดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเคยศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ดังนั้น ภายหลังขึ้นครองราชย์ จึงทรงมีพระราชดำริจัดตั้งทีมชาติชุดแรกของสยาม หรือเรียกกันทั่วไปว่า “คณะฟุตบอลสำหรับชาติสยาม” และที่สำคัญ คือวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2458 ณ สนามสามัคยาจารย์สมาคม ภายในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ตราพระมหามงกุฎ” ให้แก่นักเลงฟุตบอลทีมชาติสยามเพื่อเป็นเกียรติยศการรักชาติ ในการลงแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศ (วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน 2458) คณะฟุตบอลสยาม กับ สปอร์ตคลับ นับเป็นการลงสนามนัดแรกของทีมชาติไทย
โดยปรากฏจดหมายเหตุ คำกล่าวของ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) สภานายกคณะฟุตบอลแห่งสยามคนแรก (ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าพระยารามราฆพ” เมื่อ พ.ศ. 2462) ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพ ฯ เดลิเมล์ ฉบับวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน 2458 ดังนี้ (ภาษาและตัวสะกดสมัยนั้น)
“...หมวก เครื่องหมายความสามารถฟุตบอลที่ท่านจะได้รับไปในเวลาอีกสักครู่นี้ ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราพระมหามงกุฎ ซึ่งควรรู้สึกว่าเปนเกียรติยศการรักชาติ ย่อมจะแสดงได้หลายสถาน แต่การที่ท่านตั้งใจเข้าเล่นแข่งขันให้ถึงซึ่งไชยชนะให้แก่ชาติในคราวนี้ ก็เปนส่วนหนึ่งแห่งการรักชาติ...”
อนึ่ง “พระมหาพิชัยมงกุฎ” คือราชสิราภรณ์ ที่สร้างขึ้นเมื่อรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เรียกว่า “เบญจราชกกุธภัณฑ์” สำหรับพระมหากษัตริย์ไทย อันประกอบด้วย พระมหาเศวตฉัตร, พระมหาพิชัยมงกุฎ, พระแสงขรรค์ชัยศรี, ธารพระกร, วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลักปฏิบัติแบบเดียวกับพระราชสำนักยุโรป โดยจะถือว่า “ภาวะแห่งความเป็นกษัตริย์อยู่ที่เวลาได้สวมมงกุฎ”
ในรัชสมัย “พระผู้พระราชทานกำเนิดฟุตบอลสยาม” รัชกาลที่ 6 นั้น ทีมชาติสยามจะสวมเสื้อสีแดงคาดขาว และมี “ตราพระมหามงกุฎ” ที่อกเสื้อด้านซ้าย สำหรับการลงแข่งขันระหว่างชาติ ผลปรากฏว่าไม่เคยปราชัยให้แก่ชนชาวต่างชาติ แม้แต่นัดเดียว
นอกจากนี้ ทีมชาติสยามยังสามารถชนะเลิศรายการต่าง ๆ อาทิ ถ้วยราชกรีฑาสโมสร (พฤศจิกายน 2458), ถ้วยทองหลวง (ธันวาคม 2458) และถ้วยปอลลาร์ด (มกราคม 2458 การแข่งขันระหว่าง ทีมสยาม, ทีมอังกฤษ และทีมสกอตแลนด์) ซึ่งเกียรติภูมิดังกล่าวของทีมฟุตบอลชาติไทย มีการนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ระหว่าง พ.ศ. 2458 - พ.ศ. 2459 (วันที่ 1 เมษายน คือวันขึ้นปีใหม่ หรือ พ.ศ. ใหม่ของสยามประเทศ)
“...วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2458 การแข่งขันฟุตบอลสำหรับถ้วยปอลลาร์ด ณ สนามราชกรีฑาสโมสร รอบสุดท้าย ระหว่าง คณะฟุตบอลสยาม ชนะ คณะชาวอังกฤษ เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขัน รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานถ้วยปอลลาร์ด ให้แก่ผู้เล่นฝ่ายคณะฟุตบอลสยาม…”
ภายหลังเดือนธันวาคม 2459 รัชกาลที่ 6 จึงทรงโปรดเกล้า ฯ ก่อตั้ง “ทีมในหลวง” ขึ้น โดยการคัดเลือกบรรดานักเลงฟุตบอลรายการถ้วยทองหลวงหรือถ้วยทองนักรบ เพื่อลงเล่นกับชาวตะวันตก สำหรับรายการที่มิใช่การแข่งขันระหว่างชาติ กล่าวกันว่า คือกศุโลบายในการรักษาเกียรติภูมิของทีมชาติไทย นั้นเอง
เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จสรรคตแล้ว ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 คณะฟุตบอลแห่งสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังคงใช้ “ตราพระมหามงกุฎ” เป็นสัญญลักษณ์บนเสื้อทีมชาติ โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างชาตินอกประเทศครั้งแรกของทีมชาติสยาม คือเดือนเมษายน พ.ศ. 2473 การเดินทางไปแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยผู้สำเร็จราชการของฝรั่งเศส ณ เมืองไซง่อน ประเทศเวียดนาม นัยว่าเป็นการทดสอบฝีเท้าเพื่อเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลตามคำเชิญของฟีฟ่า แต่ในที่สุดต้องยกเลิก เนื่องจากต้องใช้เงินแผ่นดินเป็นจำนวนมากและการเดินทางไปทวีปอเมริกาใต้ ยังต้องเดินทางด้วยเรือเป็นเวลาแรมเดือน ทำให้ทีมชาติสยามจึงมิได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก ครั้งแรก (ค.ศ. 1930) ณ ประเทศอุรุกวัย
ภายหลังคณะราษฎร์ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ทีมชาติไทยจึงเปลี่ยนไปใช้ “ธงไตรรงค์” (รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานให้เป็นธงประจำชาติเมื่อ พ.ศ. 2460) แทน “ตราพระมหามงกุฎ” ตามสถานการณ์ของบ้านเมือง
ปัจจุบัน ตราพระราชทาน “พระมหามงกุฎ” มีอายุกว่า 92 ปี เยาวชนคนไทยรุ่นใหม่อาจจะยังไม่เคยเห็นสัญลักษณ์ดังกล่าวบนเสื้อขุนศึกนักเตะธงไตรรงค์อีกเลย เนื่องจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้ใช้ตราที่ชนะเลิศการประกวด เมื่อ พ.ศ. 2545 เป็นสัญลักษณ์บนเสื้อทีมชาติไทย แต่ทว่าความขลังและศรัทธาเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย กับปฐมบทประวัติศาสตร์ “ตราพระมหามงกุฎ” ในขณะที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศอังกฤษ ยังคงใช้ “ตราสิงโต” ที่แสดงถึงเอกภาพ และความสมานฉันท์เป็นหนึ่งเดียว โดยมีที่มาจากสถาบันสูงสุด นอกจากแสดงถึงการสืบทอดเจตนารมณ์ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของแผ่นดิน
อดีตที่ผ่านมา ทีมชาติไทยเคยมีตราพระราชทานจากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อแสดงถึงการรักชาติ เช่นเดียวกับทีมชาติอังกฤษ คงจะเป็นการดีหากในปีมหามงคล โดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะได้นำตราแห่งเกียรติภูมิทีมชาติไทย “ตราพระมหามงกุฎ” กลับมาอยู่บนหน้าอกเสื้อนักฟุตบอลทีมชาติไทยอีกครั้ง ในฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 38 รายการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติเพื่อร่วมฉลองพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระมหากษัตริย์นักกีฬา พระราชาแห่งฟุตบอลสยาม” และสมดังพระราชประสงค์ของ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ล้นเกล้า ฯ ของวงการฟุตบอลเมืองไทย.
จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ