Web Analytics
ถ้วยใหญ่แห่งสยาม

บทความ เรื่อง "ถ้วยใหญ่แห่งสยามประเทศ"

 

ในสมัยที่เรียกกันว่า “ยุคทองของฟุตบอลเมืองสยาม” นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ จัดการแข่งขันสำหรับพระราชทานถ้วยทองของหลวง หรือถ้วยพระราชทานใบแรกของวงการลูกหนังไทย เมื่อพุทธศักราช 2458 โดยทีมส่วนใหญ่เป็นทหาร ตำรวจ เสือป่าและข้าราชบริพาร

 

เมื่อ “องค์พระบิดาแห่งฟุตบอลเมืองสยาม” ทรงสถาปนาคณะฟุตบอลแห่งสยาม หรือสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2459 แล้วนั้น จึงทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ถ้วยใหญ่” และ “ถ้วยน้อย” ให้แก่สมาคมฯ เพื่อจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรชิงถ้วยพระราชทานประจำปี ณ สนามเสือป่า สวนดุสิตโดยทีมชนะเลิศจะได้นำไปครอบครองเป็นเวลา 1 ปี ในขณะที่รายการฟุตบอลถ้วยทองของหลวง ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “ถ้วยทองนักรบ” ในปี พ.ศ. 2460 และให้ย้ายไปแข่งขัน ณ สนามฟุตบอลพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นประจำทุกปีเช่นกัน

 

ดังนั้น ฟุตบอลถ้วยใหญ่และถ้วยน้อย ครั้งแรก จึงถูกจัดขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2459 โดยมีสโมสรสมาชิกเริ่มแรกส่งเข้าร่วมชิงชัยกว่า 10 ทีม ทำให้ต้องใช้สนามแข่งขันถึง 4 สนาม คือสนามเสือป่า, สนามโรงเรียนสวนกุหลาบ, สนามโรงเรียนเทพศิรินทร์ และสนามสวนมิสักกวัน

 

ภายหลังการพันตูแบบพบกันหมด ในที่สุดจึงได้ทีมคะแนนอันดับที่ 1 และอันดับที่ 2 เข้ามาเป็นคู่ชิงชนะเลิศ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2459 ณ สนามเสือป่า ระหว่าง สโมสรกรมมหรสพ กับ สโมสรกระทรวงยุติธรรม สำหรับทีมกรมมหรสพสวมเสื้อสีเขียวกางเกงขาว มีพระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเชื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) เป็นเจ้ากรม และสภานายกสมาคมฟุตบอลฯ คนแรกของสยาม ภายในทีมมีนักเลงฟุตบอลหมวกทีมชาติ คือ นายเพิ่ม เมฆประสาท และนายผัน ทัพภะเวส ในขณะที่ทีมกระทรวงยุติธรรมสวมชุดสีขาวล้วน

 

อนึ่ง สมัยก่อนนั้นการแข่งขันฟุตบอลจะใช้เวลาครึ่งละ 30 นาที และพัก 10 นาที ช่วงพักครึ่ง จะมีการแสดงของคณะจำอวดหลวง เป็นการคั่นรายการอีกด้วย ในการนี้ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 33 หน้า 1521 วันที่ 17 กันยายน 2459 ลงประกาศข่าวในพระราชสำนัก พระบรมมหาราชวัง ดังนี้

 

“...วันพุธที่ 13 กันยายน พระพุทธศักราช 2459 วันนี้เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งยังสนามฟุตสโมสรเสือป่า ทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอล ระหว่างสโมสรฟุตบอลกรมมหรสพกับสโมสรฟุตบอลกระทรวงยุติธรรม เมื่อเสร็จการแข่งขันแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยใหญ่สำหรับกรมมหรสพ ซึ่งเป็นพวกที่ชนะในการแข่งขันฟุตบอลสำหรับถ้วยใหญ่ปีนี้ เมื่อพระราชทานรางวัลเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่ถ้วยหลวงใหญ่แห่ถ้วยไปยังสโมสรสถานกรมมหรสพ ฯลฯ …”

 

นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 33 หน้า 1836 วันที่ 22 ตุลาคม 2459 ลงประกาศอันเกี่ยวเนื่องอีก ดังนี้

 

“…วันอังคารที่ 17 ตุลาคม พระพุทธศักราช 2459 วันนี้เวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินด้วยรถยนต์พระที่นั่งไปประทับเสวย ณ โรงโขนหลวง เพื่อเป็นเกียรติแก่สโมสรฟุตบอลกรมมหรสพ เนื่องในการฉลองถ้วยใหญ่ของคณะฟุตบอลแห่งสยาม ซึ่งสโมสรฟุตบอลกรมมหรสพได้รับพระราชทานในการแข่งขันพระพุทธศักราชนี้ ฯลฯ”

 

ตลอดระยะเวลากว่า 9 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น ความยิ่งใหญ่ประการหนึ่งในวันชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ถ้วยใหญ่และถ้วยน้อย คือองค์พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล จะเสด็จเป็นประธานการแข่งขันและพระราชทานถ้วยรางวัล แม้ต่อมาจึงเป็นองคมนตรีหรือผู้แทนพระองค์

 

เมื่อ พ.ศ. 2505 ถ้วยใหญ่ จึงถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “ถ้วย ก” และถ้วยน้อย เรียกว่า “ถ้วย ข” เนื่องจากในหลวงรัชกาลปัจจุบัน ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ถ้วย ค” และ “ถ้วย ง” อันทำให้วงการกีฬาลูกหนังเมืองไทย จึงมีการแข่งขันฟุตบอลระบบดิวิชั่น ตามแบบประเทศอังกฤษ

 

สโมสรที่เคยครองถ้วยใหญ่หรือถ้วยพระราชทาน ประเภท ก มีทั้งหมด 29 ทีม ระหว่าง พ.ศ. 2459 ถึงปัจจุบัน คือ กรมมหรสพ (พ.ศ. 2459) , มหาดเล็กหลวง (พ.ศ. 2460, 2461, 2462), โรงเรียนทหารบก (พ.ศ. 2463), โรงเรียนนายเรือ (พ.ศ. 2465, 2466, 2467), เดินรถ (พ.ศ. 2469, 2470), สวนกุหลาบ (พ.ศ. 2471, 2472), อิสระ (พ.ศ. 2472), อัสสัมชัญ (พ.ศ. 2473, 2492), ไปรษณีย์ (พ.ศ. 2474), บางรัก (พ.ศ. 2491), ชายสด (พ.ศ. 2494), ทหารอากาศ (พ.ศ. 2495, 2496, 2500, 2501, 2502, 2503, 2504, 2505, 2506, 2510, 2530, 2539), จีนแคะ (พ.ศ. 2497), นิสิตเก่าจุฬาฯ (พ.ศ. 2498), ไหหลำฯ (พ.ศ. 2499), ธนาคารกรุงเทพ (พ.ศ. 2507, 2509, 2510, 2512, 2524, 2527, 2529, 2537), ตำรวจ (พ.ศ. 2508, 2511), การท่าเรือฯ (พ.ศ. 2513, 2517, 2519, 2521, 2522, 2528, 2533), ราชวิถี (พ.ศ. 2514, 2516, 2518, 2520), ราชประชานุเคราะห์ (พ.ศ. 2515, 2516, 2523, 2525), ทหารบก (พ.ศ. 2526), ธนาคารกรุงไทย (พ.ศ. 2531, 2532, 2545, 2546), ธนาคารกสิกรไทย (พ.ศ. 2534, 2535, 2536, 2538, 2542), สินธนา (พ.ศ. 2540, 2541), บีอีซี เทโรศาสน (พ.ศ. 2543) โอสถสภา (พ.ศ. 2544, 2548), พนักงานยาสูบ (พ.ศ. 2547), ชลบุรี (พ.ศ. 2550, 2551, 2554, 2555) และเมืองทองยูไนเต็ด (พ.ศ. 2553)

 

แม้ว่ามนต์ขลังแห่งตำนานของฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน “ถ้วยใหญ่” หรือ “ถ้วย ก” ในปัจจุบัน อาจจะจางหายไปตามกาลเวลาและรูปแบบการแข่งขัน หากแต่ภาพของอดีตบนความทรงจำ จะยังคงอยู่พร้อมเรื่องราวเล่าขานสืบเท่านาน เมื่อผู้ชนะก้าวขึ้นไปรับถ้วยพระราชทานและชูขึ้นอยู่เหนือศีรษะ อันแสดงถึงศักดิ์ศรีถ้วยชนะเลิศฟุตบอลอันทรงเกียรติยศสูงสุดของประเทศไทย และเก่าแก่ที่สุดของทวีปเอเชีย ที่จัดการแข่งขันมาถึงวันนี้…เป็นเวลากว่า 96 ปี.

 

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ