Web Analytics
บทความ โอลิมปิก 1968 เกียรติยศสุดท้าย

บทความ เรื่อง "โอลิมปิก 1968 เกียรติยศสุดท้าย"

 

มีคำกล่าวประโยคหนึ่งว่า “หากเริ่มต้นด้วยดีแล้ว ย่อมหมายถึงประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง” นั้น คงอาจจะใช้กับทีมชาติไทยชุดปรี-โอลิมปิก เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2511 ไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะการประเดิมสนามรอบคัดเลือกกลุ่ม 6 ระหว่างสามชาติ ณ สนามศุภชลาศัยฯ ทีมชาติไทย แพ้ ทีมชาติอิรัก แบบยับเยินถึง 0 - 4 ทำให้แฟนลูกหนังชาวไทยเลิกมองถึงการลุ้นเป็นตัวแทนไปแข่งขันรอบสุดท้าย ที่เม็กซิโก ชิตี้ ลงทันที

 

แต่แล้วนักเตะเจ้าถิ่นแดนสยาม กลับพลิกสถานการณ์ที่เป็นรองอย่างเหลือเชื่อ หลังจากนัดแรก (พบกันทีมละ 2 นัด) เมื่อนัดที่ 2 ทีมชาติไทย ชนะ ทีมชาติอินโดนีเซีย 1 - 0 นัดที่ 3 ทีมชาติไทย ชนะ ทีมชาติอิรัก 2 - 1 และนัดที่ 4 ทีมธงไตรรงค์คว้าแต้มสำคัญในแมตช์สุดท้าย เฉือนชัยชนะต่อทีมอิเหนาเจ้าเล่ห์ 2 - 1 ทำให้มีคะแนนเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มพร้อมกับการคว้าสิทธิ์ 1 ใน 3 ทีมตัวแทนทวีปเอเชียร่วมศึกลูกหนังโอลิมปิก อีกครั้งในรอบ 12 ปี

 

มหกรรมกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 19 ณ นครเม็กซิโก ซิตี้ สหรัฐเม็กซิโก (The United Mexican States) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 27 ตุลาคม ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) มีทีมผ่านเข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด รวม 16 ชาติทั่วโลก โดยแบ่งออกเป็น 4 สาย ดังนี้ สาย A มี เม็กซิโก(เจ้าภาพ), ฝรั่งเศล, โคลัมเบีย และ ปาปัวนิวกินี สาย B มี สเปน, บราซิล, ไนจีเรีย และญี่ปุ่น สาย C มี ฮังการี (แชมป์เก่า), อิสราเอล, เอลซัลวาดอร์ และกาน่า และสาย D มี เชโกสโลวะเกีย, บัลแกเรีย, กัวเตมาลา และไทย

 

การแบ่งสายรอบแรก ผลปรากฏว่า ทีมชาติไทยต้องอยู่ในสาย D ที่มีสองทีมยักษ์ใหญ่แห่งค่ายยุโรปตะวันออก ซึ่งผู้เล่นเกือบทั้งหมดเป็นนักฟุตบอลระดับอาชีพ ในขณะนั้นโอลิมปิกสากลยังให้การรับรองสถานภาพเป็นนักกีฬาสมัครเล่น (จึงต่อมา จึงมีการเปลี่ยนแปลงกฎโดยให้มีการจำกัดอายุของผู้เล่นต้องไม่เกิน 23 ปี ใน ค.ศ. 1993)

 

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค นายกสมาคมและรองประธานฟีฟ่า (ฝ่ายกิจการเอเชีย) ได้ประกาศรายชื่อนักเตะชุดโอลิมปิก เม็กซิโก ที่ส่วนใหญ่แล้วคือชุดเดียวกับรอบคัดเลือก จำนวน 19 คน คือ สราวุธ ประทีปากรชัย, เชาว์ อ่อนเอี่ยม, ไพศาล บุพพศิริ, ยงยุทธ สังขโกวิท, ประโยค สุทธิสง่า, จีระวัฒน์ พิมพะวาทิน, ณรงค์ ทองเปลว, ไพบูลย์ อัญญโพธิ์, สนอง ไชยยงค์, สุพจน์ พานิช, ชัชชัย พหลแพทย์, วิชัย แสงธรรมกิจกุล, นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์, ประเดิม ม่วงเกษม, อุดมศิลป์ สอนบุญนาค, เกรียงศักดิ์ นุกูลสมปรารถนา, เกรียงศักดิ์ วิมลเศรษฐ์, บุญเลิศ นิลภิรมย์, และณรงค์ สังขสุวรรณ (หัวหน้าทีม) มี มร.กุนเธอร์ กลอป์ม ชาวเยอรมันตะวันตกเป็นผู้ฝึกสอน นายประสิทธิ์ นิลายน เป็นผู้จัดการทีม และ พ.อ.ประเทียบ เทศวิศาล เป็นเจ้าหน้าที่ประจำทีม แต่ทว่าก่อนออกเดินทางเพียง 1 สัปดาห์ ประโยค สุทธิสง่า ผู้เล่นตำแหน่งกองหลังคนสำคัญ เจ้าของฉายา “กำแพงเมืองจีน” ขอถอนตัวออกจากทีมชาติชุดดังกล่าว ด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการ

 

คณะฟุตบอลทีมชาติไทยเดินทางถึงประเทศเม็กซิโก ก่อนจะมีพิธีเปิดการแข่งขัน กีฬาโอลิมปิกประมาณหนึ่งเดือน เพื่อต้องการให้ผู้เล่นทั้งหมดได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอยู่เหนือกว่าระดับน้ำทะเลถึง 7,000 ฟิต สำหรับสนามแข่งขันของสาย D อยู่ในเมืองเลยอง (Lagos) และเมืองกัวดาฮาร่า (Guadalajara) การฝึกซ้อมของนักเตะไทยได้รับความสนใจจากนักข่าวของเม็กซิกันมากเป็นพิเศษ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นทีมหน้าใหม่บนถนนลูกหนังระดับโลก

 

โดยหนังสือพิมพ์โอวาชิอองเนส ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับทีมไทย เรื่อง “ความหวังของโค้ช” (Pocas, Venimos a Aprender) และตั้งฉายา "เจ้าแมวป่า" ให้แก่ สราวุธ ประทีปากรชัย นายทวารทีมไทย ที่โชว์ฟอร์มป้องกันตาข่ายอย่างเหนียวแน่น ในแมตช์หนึ่งของการอุ่นเครื่อง ส่วนผลการแข่งขันทดสอบฝีเท้าของทีมชาติไทย รวม 7 นัด มีดังนี้ ชนะ ทีมเท็กซี่โคโค่ 3 - 1,ชนะ มีด์ท จอห์นสัน 6 - 2, ชนะ สโมสรโทลูคา 3 - 2, แพ้ ทีมชาติไนจีเรีย 2 - 7, เสมอ สโมสรอเมริกา 3 - 3, แพ้ ทีมชาติเอธิโอเปีย 0 - 6 และชนะ สโมสรแอตแลนต้า 8 - 5

 

อนึ่ง การแข่งขันฟุตบอลโอลิมปิกครั้งนี้ สมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ได้กำหนดให้มีการมอบประกาศนียบัตร “Fair Play” สำหรับทีมที่มีมารยาทยอดเยี่ยมเป็นทัวร์นาเม้นต์แรก

 

วันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1968 ฟุตบอลโอลิมปิก ครั้งที่ 19 รอบแรก ณ สนามเมืองเลยอง (LEONSTADIUM,LEON) ทีมชาติไทย พบ ทีมชาติบัลแกเรีย การลงสนามนัดแรกนักเตะไทยสามารถยันการบุกเอาไว้ได้จนถึง น. 26 จึงถูก กิโอนิน ยิงประตูให้บัลแกเรียขึ้นนำก่อน ครึ่งแรก 1 - 0 เมื่อเริ่มครึ่งหลัง นักฟุตบอลไทยอ่อนแรงลง และต้องเสียสกอร์เพิ่มอีกจาก จาคอฟ น. 53, น. 58 และ น. 60, คริสซอฟ น. 72, ซาลฟิรอฟ น. 78 และอิฟกอฟ น. 89 ทีมชาติไทย แพ้ ทีมชาติบัลแกเรีย 0 - 7

 

วันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1968 ณ สนามเมืองสนามเมืองเลยอง (LEON STADIUM,LEON) ทีมชาติไทย พบ ทีมชาติกัวเตมาลา เกมการแข่งขันตื่นเต้นและเร้าใจเป็นอย่างมาก ทีมกัวเตมาลาออกนำไปก่อนจากลูกยิงของ เมลการ์ แต่ทีมชาติไทยมาตีเสมอสำเร็จใน น. 44 จาก อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค ทำให้ จบครึ่งแรกที่สกอร์ 1 - 1 เมื่อเข้าสู่ 45 นาทีสุดท้าย การเล่นจึงเริ่มรุนแรงขึ้น ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนอยู่แล้ว จนกระทั่งผู้ตัดสินต้องเบรกเกมด้วยใบแดงฝ่ายละคน คือ ชัชชัย พหลแพทย์ และ อาวอลเล เวอร์ราชิโอ ผู้เล่นของไทยออกอาการเหมือนนัดแรก ทีมกัวเตมาลายิงเพิ่มได้อีก 3 ประตูจาก โรลดาน น. 55, โลเปซ น. 57 และเมลการ์ น. 85 ทีมชาติไทย แพ้ ทีมชาติกัวเตมาลา 1 - 4 ทำให้ตกรอบเป็นทีมแรกของสาย D

 

วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1968 ณ สนามกัวดาฮาร่า (JALISCO STADIUM, GUADAIAJARA) ทีมชาติไทย พบ ทีมชาติเชโกสโลวะเกีย การลงสนามนัดสุดท้ายของรอบแรก ทีมเชกจะต้องยิงประตูให้มากที่สุดเพื่อการเข้าสู่รอบต่อไป เนื่องจากผลต่างสกอร์เสียเปรียบสองทีมนำร่วมสาย เมื่อผ่านมาถึง น. 25 ทีมเชกขึ้นนำ 1 - 0 จนหมดครึ่งแรก แม้ว่าช่วงเวลาที่เหลืออยู่นั้น ทีมไทยจะพยายามต้านทานอย่างสุดความสามารถแล้ว ก็ยังถูกถล่มถึง 7 ประตูซ้อนเริ่มจาก น. 54, น. 57, น. 60, น. 71, น. 72, น. 85 และน. 88 ทีมชาติไทย พ่าย ทีมชาติเชโกสโลวะเกีย 0 - 8 (สถิติชนะมากที่สุดของทีมทีมชาติเชโกสโลวะเกีย) แต่ทีมเชกตัวเก็งทีมหนึ่ง ต้องตกรอบแรกตามทีมไทย เมื่อทีมชาติบัลแกเรีย กับ ทีมชาติกัวเตมาลา มีผลเสมอกันไปตามความคาดหมาย

 

สำหรับทีมชนะเลิศเหรียญทองฟุตบอลกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 19 คือทีมชาติฮังการี ภายหลังพิชิตทีมชาติบัลแกเรีย 4 - 1 ในเกมที่เข้มข้นและดุเดือด โดยมีผู้เล่นถูกไล่ออกถึง 4 คน (บัลแกเรีย 3 และฮังการี 1 คน) ส่วนเหรียญทองแดงได้แก่ทีมชาติญึ่ปุ่น นับเป็นเหรียญแรกจากทีมทวีปเอเชีย เมื่อสามารถชนะเจ้าถิ่นเม็กซิโกลงได้แบบพลิกความคาดหมาย 2 - 0 และผู้ยิงประตูทั้งหมด คือ คูนิชิเกะ กามาโมโต้ ดาวซัลโวประจำทัวร์นาเมนต์ (ผู้ชักนำวิทยา เลาหกุล เดินทางไปเล่นฟุตบอลกึ่งอาชีพสังกัดสโมสรยันมาร์ ดีเซล เมื่อประมาณ พ.ศ. 2520)

 

ทีมชาติญี่ปุ่นเริ่มต้นพัฒนาเกมลูกหนัง พร้อมกับทีมชาติไทยตั้งแต่การส่งนักฟุตบอลไปเก็บตัวฝึกซ้อม ณ ประเทศเยอรมนี ในทศวรรษเดียวกัน (พ.ศ. 2505 - 2508) และก้าวแรกบนเส้นทางแห่งความสำเร็จ คือการเป็นตัวแทนของทวีปเอเชีย ลงแข่งขันฟุตบอลกีฬาโอลิมปิก รอบ 16 ทีมสุดท้าย สมัยเดียวกันถึง 2 ครั้ง (ค.ศ. 1956, 1968)

 

ในปัจจุบัน ทีมชาติญี่ปุ่นสามารถผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย เป็นผลสำเร็จ นอกจากการเป็นทีมอันดับหนึ่งของทวีปเอเชีย แต่ทีมชาติไทยยังคงเป็นเพียงหมายเลขหนึ่งในระดับอาเชียน และคงถึงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ควรจะต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อ World Cup มากกว่า Sea Games ดังที่ญี่ปุ่นมองว่าฟุตบอลเอเชี่ยนเกมส์ เป็นแค่สนามพิสูจน์ฝีเท้าของนักฟุตบอลระดับเยาวชน เท่านั้น

 

ผลการแข่งขันของทีมชาติไทยชุดโอลิมปิก ค.ศ. 1968 อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่สำหรับแฟนลูกหนังชาวสยามทุกคนแล้ว ต่างรู้ดีว่าฟุตบอลโอลิมปิกเป็นรายการระดับโลก เมื่อนักเตะลุ่มเจ้าพระยาได้มีโอกาสลงสนามพบกับทีมชั้นนำระดับ WORLD CUP จึงถือเป็นเกียรติภูมิและความภูมิใจของวงการลูกหนังไทย นอกจากจะมีการตื่นตัวกันอย่างมากสมัยหนึ่ง จนก่อให้เกิดรายการสำคัญของทวีปเอเชียขึ้นมาอีกทัวร์นาเม้นต์หนึ่งปลายปี พ.ศ. 2511 คือการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ถือเป็น "ยุครุ่งเรืองของฟุตบอลเมืองไทย" ที่มีเรื่องราวเล่าขานตราบเท่านาน.

 

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ