Web Analytics
บทความ อ้ายฮก ตำนานนักเลงฟุตบอล

บทความ เรื่อง “อ้ายฮก” ตำนานนักเลงฟุตบอล

"กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำคนให้เป็นคน"
ส่วนหนึ่งจากบทเพลงกราวกีฬา ของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้นำกีฬาฟุตบอลเข้ามาสู่แผ่นดินสยาม แฝงด้วยปรัชญาวิถีแห่งความเป็นจริง เนื่องจากปัจจุบัน "วัตถุนิยม" ทำให้ “กีฬา” กลายเป็นเรื่องของธุรกิจและผลประโยชน์มหาศาล หากแต่ไร้ซึ่ง “การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” ดังอดีตที่การแข่งขันกีฬานอกจ...ากจะทำให้นักกีฬาละคนดูปราศจากกิเลสแล้ว บุคลากรเหล่านั้น ภายหลัง คือปูชนียบุคคลที่มีคุณค่าต่อแผ่นดิน

ขุนประสิทธิ์วิทยกร (ศักดิ์ คุปตะวาณิช) ชื่อเดิม "ฮก" เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ๒๔๔๒ ณ จังหวัดพระนคร เข้าเรียนหนังสือประโยคประถมที่โรงเรียนประถมดัดจริต (พ.ศ. 2454) ประโยคมัธยมปลายที่โรงเรียนวัดเบ็ญจมบพิตร (พ.ศ. 2457) และประกาศนียบัตร ป.ป. ที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือน (พ.ศ. 2460) ก่อนรับราชการเป็นครูรองที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (พ.ศ. 2461) ต่อมาย้ายไปอยู่กระทรวงพาณิชย์ และตำแหน่งสุดท้าย คือรองอธิบดีกรมทะเบียนการค้า (พ.ศ. 2502)

ในด้านกีฬาฟุตบอล เด็กชายฮก เริ่มหัดเตะผลส้มโอและกะโหลกกะลาแทนลูกฟุตบอลบริเวณลานหน้าศาลเจ้าแถวสามเสน เมื่อมีฝีเท้าอันกร้าวแกร่งจึงได้ลงแข่งขันชิงโล่ห์ของกระทรวงธรรมการ ให้กับทีมโรงเรียนวัดเบ็ญจมบพิตร และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตามลำดับ แต่มาสร้างชื่อเสียงกับจุฬาลงกรณ์ฟุตบอลสโมสร ชุดชนะเลิศถ้วยใหญ่ พ.ศ. 2463

ต่อมา พ.ศ. 2463 ขุนประสิทธิ์วิทยกร ได้ย้ายไปเป็นครูรองที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลนครไชยศรี "พระปฐมวิทยาลัย" จังหวัดนครปฐม นอกจากการสอนหนังสือแล้วยังได้ฝึกสอนการเตะลูกหนังให้กับนักเรียนและประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งส่งสโมสรนครไชยศรีเข้าแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานประจำปี โดยรอบชิงชนะเลิศถ้วยน้อยหน้าพระที่นั่งรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2464 ณ สนามเสือป่าสวนดุสิต สโมสรนครไชยศรี ชนะ สโมสรทหารรักษาวัง 2 - 0 นับเป็นทีมแรกจากมณฑลที่เข้ามาครองถ้วยในพระนคร ภายหลังยังได้ลงเล่นฟุตบอลชิงถ้วยทองนักรบให้กับสโมสรเสือป่าราบหลวง ณ สนามพระราชวังสนามจันทร์ เมื่อ พ.ศ. 2467

"...ในการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองนักรบครั้งนี้ ทีมเสือป่าราบหลวงซึ่งมีข้าพเจ้าเป็น Captaion ก็เผอิญได้ถ้วยทองอีก. ซึ่งกรมราบหลวงยังไม่เคยได้เลย ดูเปนสิ่งที่ควรปลื้มอยู่ ! การมีชื่อเสียงในการเล่นฟุตบอลหน้าพระที่นั่งของข้าพเจ้า ทำให้มีผู้อิจฉาและปองร้ายอยู่ทั่วไป แต่เดชะด้วยความเล่นอย่างใจนักเลงของข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าแคล้วคลาดจากภัยไปได้เสมอ. และเปนที่สบพระทัยของล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๖ ยิ่งนัก. จนทรงเรียกข้าพเจ้าว่า "อ้ายฮก" ทรงรู้จักข้าพเจ้าดีกว่าเมื่อเวลาขอพระราชทานเงินมากขึ้น..." (บันทึกขุนประสิทธิ์วิทยกร / ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๗)

อนึ่ง รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชทานเงินให้แก่ ขุนประสิทธิ์วิทยกร เพื่อใช้ปลูกบ้าน จำนวน 2,000 บาท ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อ "อ้ายฮก" นักเลงฟุตบอลที่พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยในเชิงเล่น

รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จประพาสอินโดจีน ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนของฝรั่งเศส จึงมีหนังสือถึงรัฐบาลสยาม เพื่อให้ส่งทีมฟุตบอลไปแข่งขันที่ประเทศเวียดนาม เนื่องในการเสด็จครั้งนี้ โดย ขุนประสิทธิ์วิทยกร รับตำแหน่งหัวหน้าชุดในการลงสนามต่างแดนครั้งแรกของทีมชาติไทย สำหรับการแข่งขันนัดสำคัญหน้าพระที่นั่ง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นได้ตีพิมพ์ข่าวและประวัติหัวหน้าชุดทีมเยือน ทำให้ชาวญวนรู้จักชื่อเสียงนักเตะสยามกันไปทั่วประเทศเวียดนาม

"...เวลา ๑๗.๐๐ น. เสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอลล์ ระวางคณะไทยซึ่งเดิรทางมาจากกรุงเทพ ฯ กับพวกไซ่ง่อน ณ สนามซึ่งอยู่ใกล้กับสปอร์ทคลับ (Cecle Sportif) เป็นสนามดินเพราะหญ้าแห้งตายหมด การเล่นได้เป็นไปโดยความเรียบร้อย คณะไทยเป็นฝ่ายเข้มแขงเล่นได้ดีมาก แต่ในครึ่งหลังคนไทยคนหนึ่งถูกล้มทับหัวเข่าเคล็ดไม่สามารถเล่นต่อไปได้ แต่ถึงกระนั้นฝ่ายไทยยังชนะ ๔ ประตูสูนย์ มีราษฎรไปดูกันหลายพันคน สังเกตว่าไม่เอาใจเข้าข้างไหน ฝ่ายไหนทำได้ดีก็ตบมือให้..." (จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2473)

ระหว่าง พ.ศ. 2472 - 2475 มีสโมสรลูกหนังของฮ่องกง, ไต้หวัน และมาเลเซีย เดินทางเข้ามาแข่งขันในเมืองไทยหลายครั้ง โดย ขุนประสิทธิ์วิทยกร ขณะนั้นเล่นให้กับสโมสรลุมพินี มีโอกาสสำแดงฝีเท้ากับทีมจากต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง

ขุนประสิทธิ์วิทยกร หรือ “อ้ายฮก” นอกจากเป็นนักกีฬาเอกแล้ว ด้านการรับราชการก็ได้อุทิศตนให้แก่แผ่นดินอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเคยไปปฏิบัติราชการที่เมืองเชียงตุงอันทุรกันดารเป็นอย่างมาก ก่อนท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2521 หากแต่ชื่อเสียงและความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะเห็นได้จากความปลาบปลื้มทุกครั้งที่ได้ลงเล่นฟุตบอลหน้าพระที่นั่ง ในชุดทีมชาติที่มีตราพระมหามงกุฎประทับอยู่บนหน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย ในฐานะอดีตหัวหน้าทีมชาติชุดแรกที่เดินทางไปสร้างเกียรติภูมิในต่างแดน นอกจากความภาคภูมิใจของลูกหลานวงศ์ตระกูล "คุปตะวาณิช" และตำนานนักเลงฟุตบอลสยามประเทศ…ตลอดไป.

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ